ข้อมูลทั่วไป

ข้อมูลทั่วไป

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 พ.ย. 2566

| 54,644 view

ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา เรื่อง การเปิดให้บริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลสัญชาติไทยผู้มีถิ่นพำนักในสาธารณรัฐคาซัคสถาน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานาเปิดให้บริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลสัญชาติไทยผู้มีถิ่นพำนักในสาธารณรัฐคาซัคสถานและประเทศในเขตอาณา ได้แก่ สาธารณรัฐคีร์กีซ และสาธารณรัฐทาจิกิสถาน ตามนโยบายการทูตเพื่อประชาชน และความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทย รายละเอียดปรากฏตามประกาศสถานเอกอัครราชทูต ที่ี ๑/๒๕๕๘ ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘

 

ข้อมูลทั่วไป

 

1.  คนต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องขอรับการตรวจลงตราหรือขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยซึ่งตั้งอยู่ในประเทศที่ตนมีถิ่นพำนัก หรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลประเทศที่คนต่างชาติดังกล่าวมีถิ่นพำนัก หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานที่ขอวีซ่า กรุณาสอบถามได้จากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยทุกแห่ง

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่และที่ติดต่อของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทย สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศที่  http://www.thaiembassy.org


2.  คนต่างชาติบางสัญชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ดังนี้
       

VOA_page-0002

3.  คนต่างด้าวที่เดินทางมาจากประเทศเขตติดโรคไข้เหลืองจะต้องแสดง “เอกสารระหว่างประเทศรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง” (International Health Certificate on Yellow Fever Vaccination) ในการยื่นคำร้องขอรับการตรวจลงตรา ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ รวมทั้งจะต้องแสดงเอกสารดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้  ประเทศดังกล่าว ได้แก่

รายชื่อประเทศหรือดินแดนที่เป็นเขตติดโรคไข้เหลืองมีดังนี้

 (1)    สาธารณรัฐโบลิเวีย        (Republic of Bolivia)
 (2)    สาธารณรัฐเอกวาดอร์     (Republic of Ecuador)
 (3)    สาธารณรัฐปานามา       (Republic of Panama)
 (4)    สาธารณรัฐเวเนซุเอลา    (Republic of Venezuela)
 (5)    สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล (Federative Republic of Brazil)
 (6)    ดินแดนเฟรนช์เกียนา     (French Guiana)
 (7)    สาธารณรัฐเปรู             (Republic of Peru)
 (8)    สาธารณรัฐโคลอมเบีย    (Republic of Colombia)
 (9)    สาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา (Cooperative Republic of Guyana)
 (10)   สาธารณรัฐซูรินาเม        (Republic of Suriname)
 (11)   สาธารณรัฐแองโกลา      (Republic of Angola)
 (12)   สาธารณรัฐบุรุนดี          (Republic of Burundi)
 (13)   สาธารณรัฐชาด            (Republic of Chad)
 (14)   สาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี (Republic of Equatorial Guinea)
 (15)   สาธารณรัฐแกมเบีย       (Republic of the Gambia)
 (16)   สาธารณรัฐกินีบิสเซา     (Republic of Guinea Bissau)
 (17)   สาธารณรัฐมาลี            (Republic of Mali)
 (18)   สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย (Federal Republic of Nigeria)
 (19)   สาธารณรัฐเซเนกัล        (Republic of Senegal)
 (20)   สาธารณรัฐซูดาน          (Republic of the Sudan)
 (21)   สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย (United Republic of Tanzania)
 (22)   สาธารณรัฐเบนิน            (Republic of Benin)
 (23)   สาธารณรัฐแคเมอรูน       (Republic of Cameroon)
 (24)  สาธารณรัฐคองโก           (Republic of the Congo)
 (25)   สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย (Federal Democratic Republic of Ethiopia)
 (26)   สาธารณรัฐกานา            (Republic of Ghana)
 (27)   สาธารณรัฐเคนยา          (Republic of Kenya)
 (28)   สาธารณรัฐอิสลามมอริเตเนีย (Islamic Republic of Mauritania)
 (29)   สาธารณรัฐรวันดา          (Republic of Rwanda)
 (30)   สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน  (Republic of Sierra Leone)
 (31)   สาธารณรัฐโตโก            (Republic of Togo)
 (32)   ประเทศบูร์กินาฟาโซ      (Burkina Faso)
 (33)   สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic)
 (34)   สาธารณรัฐโกตดิวัวร์      (Republic of Cote d’Ivoire)
 (35)   สาธารณรัฐกาบอง         (Gabonese Republic)
 (36)  สาธารณรัฐกินี               (Republic of Guinea)
 (37)   สาธารณรัฐไลบีเรีย        (Republic of Liberia)
 (38)   สาธารณรัฐไนเจอร์        (Republic of Niger)
 (39)  สาธารณรัฐประชาธิปไตยเซาตูเมและปรินซิปี (Democratic Republic of Sao Tome and Principe)
 (40)   สาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาลี (Somali Democratic Republic)
 (41)   สาธารณรัฐยูกันดา         (Republic of Uganda)
 (42)  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo)
 (43)   สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก (Republic of Trinidad and Tobago)
 (44)   สาธารณรัฐอาร์เจนตินา (Argentine Republic)
 (45)   สาธารณรัฐปารากวัย (Republic of Paraguay)

 

4.  คุณสมบัติโดยทั่วไปของผู้ที่จะยื่นขอวีซ่าเข้าไทยได้มีดังนี้         
     -  ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ถูกต้องสมบูรณ์ และมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน            
     -  มีหลักฐานแสดงว่าจะเดินทางออกจากประเทศไทยหลังจากสิ้นสุดการพำนักในไทย เช่น ตั๋วเครื่องบิน  และมีวีซ่าหรือหลักฐานว่าสามารถเดินทางกลับประเทศที่มีถิ่นพำนัก หรือเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นได้ (ในกรณีขอเดินทางผ่าน)          
     -  ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  เช่น เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ  มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน  หรือเป็นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ   มีเงินค่าใช้จ่ายเพียงพอในขณะพำนักในไทยตามระเบียบกำหนดคืออย่างน้อยคนละ 20,000 บาท  เป็นต้น 

5.  ในการขอวีซ่านั้น คนต่างชาติจะต้องขอรับการตรวจลงตราให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการเข้ามาในประเทศไทย  ทั้งนี้ การอนุมัติวีซ่าอยู่ในดุลพินิจของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่  และในการตรวจลงตราให้แก่คนต่างชาติบางสัญชาติ ได้มีการกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นพิเศษ   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทุกแห่ง 

6. เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการเดินทาง คนต่างชาติที่จะขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทยควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับอายุของวีซ่า (visa validity) และระยะเวลาพำนัก (period of stay) อายุของวีซ่าหมายถึงระยะเวลาที่ผู้ได้รับวีซ่าสามารถใช้เดินทางมาประเทศไทยได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กงสุลจะเป็นผู้กำหนดอายุของวีซ่าและจะปรากฏอยู่ในวีซ่าสติ๊กเกอร์หรือตราประทับวีซ่าของสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่  โดยทั่วไปอายุของวีซ่าคือ 3 เดือนนับจากวันที่ออกวีซ่า แต่ในบางกรณีและสำหรับวีซ่าบางประเภทอายุของวีซ่าอาจเป็น 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือ 3 ปี 

ส่วนระยะเวลาพำนักหมายถึงระยะเวลาที่ผู้เดินทางได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยได้  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาพำนักเมื่อคนต่างชาติเดินทางมาถึง และจะปรากฏอยู่ในตราประทับขาเข้า  ระยะเวลาพำนักขึ้นอยู่กับประเภทของวีซ่า เช่น  transit visa จะได้รับอนุญาตให้พำนักได้ไม่เกิน 30 วัน   tourist visa ไม่เกิน 30 วันหรือ 60 วัน  และ non-immigrant visa ไม่เกิน 90 วัน หากมีความจำเป็นต้องอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว คนต่างชาติต้องไปยื่นคำร้องขออนุญาตอยู่ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (มีสำนักงานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด)  มิฉะนั้น หากอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต จะถูกปรับวันละ 500 บาทรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาตอยู่ต่อ สอบถามได้จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โทร. 0-2141-9889  หรือดูที่เว็บไซต์ www.immigration.go.th

7.  คนต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่าประเภทใด ๆ ก็ตาม ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน  ดังนั้น คนต่างชาติที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องขอรับการตรวจลงตราประเภทที่ถูกต้องคือ Non-Immigrant Visa “B”  เพื่อที่จะสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้  รายละเอียดเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตทำงานดูได้ที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่ www.doe.go.th/workpermit/index.html

8.  สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยมีอำนาจหน้าที่ในการให้วีซ่าแก่คนต่างชาติเพื่ออนุญาตให้เดินทางมาประเทศไทยได้  อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้เข้าประเทศไทย รวมทั้งการกำหนดระยะเวลาที่จะอนุญาตให้พำนักในประเทศไทย เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง  ดังนั้น คนต่างชาติที่ได้รับวีซ่าแล้วบางรายอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีลักษณะหรือพฤติการณ์เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

 

 

 

 

เอกสารประกอบ

services-20151029-161031-662700
services-20151029-161039-791507