วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 859 view

แผนอพยพคนไทยของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา

กรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ/วิกฤติการณ์ทางการเมือง/โรคระบาด

ประจำปีงบประมาณ 2562

1.  คาซัคสถานตั้งอยู่ในเขตเอเชียกลาง ทางตอนกลางของที่ราบยูเรเซีย ระหว่างรัสเซียและอุซเบกิซสถาน โดยทิศตะวันออกติดจีน ทิศตะวันตกติดทะเลสาบแคสเปียน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดสาธารณรัฐคีร์กีซ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดเติร์กเมนิสถาน มีขนาดพื้นที่ 2,724,900 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 5 เท่าของไทย และมีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ถือได้ว่ามีขนาดประมาณยตะวันตก)

 

1.2 พรมแดน

                เส้นพรมแดนของคาซัคสถานมีความยาว 12,185 กิโลเมตร ติดกับรัสเซีย 6,846 กิโลเมตร อุซเบกิสถาน 2,203 กิโลเมตร จีน 1,533  กิโลเมตร สาธารณรัฐคีร์กีซ 1,224 กิโลเมตร เติร์กเมนิสถาน 379 กิโลเมตร

1.3 เส้นทางคมนาคมถึงประเทศใกล้เคียง

เส้นทางคมนาคมทางอากาศ

เมืองอัลมาตีมีเที่ยวบินตรงระหว่างเมืองอัลมาตีและกรุงเทพฯ โดยสายการบินแอร์อัสตานาทุกวัน โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง และมีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงอัสตานาและกรุงเทพฯ สัปดาห์ละ 2 วัน โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง

                       อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เที่ยวบินตรงดังกล่าวไปยังกรุงเทพฯ เมืองสำคัญในคาซัคสถานที่มีชาวไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ เมืองอัคเตา อาตูเรา อัลมาตี และอัสตานา ล้วนมีเส้นทางบินตรงไปยังกรุงมอสโก ซึ่งมีสายการบินไทยให้บริการเส้นทางบินกรุงมอสโก – กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ชาวไทยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราในประเทศรัสเซียเป็นเวลา 30 วัน ดังนั้น หากกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถเดินทางโดยสายการบินแอร์อัสตานาจากเมืองอัลมาตีหรืออัสตานาไปยังกรุงเทพฯ  การเดินทางทางอากาศจากเมืองต่าง ๆ ในคาซัคสถานไปยังกรุงมอสโกน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเส้นทางการคมนาคมทางอากาศจากเมืองสำคัญอื่น ๆ ของคาซัคสถานไปยังกรุงมอสโกมีดังนี้

-        กรุงอัสตานา              ใช้เวลาเดินทาง            3.30       ชั่วโมง

-        เมืองอัคเตา              ใช้เวลาเดินทาง            2.50       ชั่วโมง      

-        เมืองอาตูเรา             ใช้เวลาเดินทาง            2.40       ชั่วโมง      

-        เมืองอัลมาตี             ใช้เวลาเดินทาง            4.50      ชั่วโมง

 

2.  ขอบเขตการคุ้มครองและดูแลคนไทย ของ สอท.

·       เขตอาณาของ สอทฯ ประกอบด้วย คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน และสาธารณรัฐคีร์กิซ 

·       นอกจากนี้ ยังมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอัลมาตี และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงบิชเคก  

 

3.  ผู้พำนักในเขตอาณาของ สอท.ฯ

·       คนไทยที่พำนักในคาซัคสถานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทยประมาณ 320 คน ส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันในเมืองอัคเตาและอาตูเรา ตามด้วยพนักงานนวดแผนไทยที่เมืองอัลมาตีและกรุงอัสตานา สำหรับในคีร์กีซสถานมีรายงานว่ามีคนไทยพำนักราว 3 – 5 คน แต่ไม่พบว่ามีคนไทยพำนักอยู่ในทาจิกิสถาน

 

4ความเสี่ยงของสถานการณ์ที่เสี่ยงภัยในเขตอาณาของ สอท.ฯ

·       ภัยธรรมชาติ

บางพื้นที่ในคาซัคสถานยังคงมีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะเมืองอัลมาตี แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นที่เมืองอัลมาตีเมื่อปี พ.ศ. 2454 (1911) ระดับ 7.3 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 452 คน ส่วนในสมัยปัจจุบันมีรายงานแผ่นดินไหวใกล้เมืองอัลมาตีเป็นระยะ แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายใด ๆ เช่น เดือนพฤษภาคม 2555 เกิดแผ่นดินไหวระดับ 5.7 ห่างจากเมืองอัลมาตี 148 ก.ม. และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 มีรายงานแผ่นเดินไหวระดับ 4.7 ห่างจากเมืองอัลมาตี 491 ก.ม.

ภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น พายุหิมะ หิมะถล่ม แต่ก็มิได้สร้างหายนะจนถึงระดับที่ต้องอพยพประชาชน และคาซัคสถานเป็นประเทศ land lock จึงไม่มีภัยสึนามิ

ดังนั้น สอทฯ จึงประเมินว่า อาจเกิดภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหวแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้น้อยที่จะสร้างความเสียหายจนถึงขั้นต้องอพยพประชาชน อย่างไรก็ตาม สอทฯ ก็ได้เตรียมแผนอพยพไว้

 

·       สถานการณ์การเมือง

ยังไม่เคยมีเหตุการณ์การก่อการร้ายรุนแรงคาซัคสถาน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเพียงเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นวงจำกัดในบางพื้นที่ คือ (1) การปล้นร้านค้าปืนและกราดยิงที่เมืองอัคโตเบเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 (2) ชายวิกลจริตกราดยิงตำรวจที่เมืองอัลมาตีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 และ (3) กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่กรุงอัสตานาในเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งตำรวจใช้เวลาเพียง 30 นาทีในการยุติการชุมนุม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคาซัคสถานได้ปรับยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายและเพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามกลุ่มเคร่งศาสนาแบบสุดโต่งโดยเมื่อเดือน ก.พ. 2561 รัฐบาลประกาศเพิ่ม งปม. สำหรับต่อต้านการก่อการร้ายระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2018 – 2022) มูลค่ากว่า 866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ 4 แผนงาน คือ (1) ป้องปรามกลุ่มเคร่งศาสนาแบบสุดโต่ง (2) ลดจำนวนลัทธินิยมความรุนแรง (3) ยับยั้งแผนก่อการร้าย และ (4) ฝึกซ้อมแผนต่อต้านการก่อการร้าย

นอกจากนี้ คาซัคสถานมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัสเซียทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับจีน คาซัคสถานไม่มีปัญหาด้านเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และไม่มีปัญหาชนกลุ่มน้อยในประเทศแม้ว่าจะมีชนเผ่ามากกว่า 200 เชื้อชาติก็ตาม

ดังนั้น สอทฯ จึงประเมินว่า ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในคาซัคสถานจนถึงขั้นต้องอพยพประชาชน

 

·       โรคระบาด

มีความเสี่ยงต่ำมาก ที่ผ่านมายังไม่เคยมีประวัติการระบาดของโรคที่รุนแรงจนถึงขั้นต้องอพยพผู้คน นอกจากนี้ วิทยาการด้านการแพทย์ของคาซัคสถานก็มีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียกลาง

ดังนั้น สอทฯ จึงประเมินว่า ไม่น่าจะเกิดโรคระบาดรุนแรงในคาซัคสถานจนถึงขั้นต้องอพยพประชาชน

 

5. ข้อแนะนำสำหรับคนไทยเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

      กรณีสภาวะปกติ

1.      สำรวจว่าตนเองและบุคคลในครอบครัวมีเอกสารเดินทางครบถ้วน พร้อมเดินทางหากจำเป็น

2.      แจ้งที่อยู่และหมายเลขติดต่อให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ทราบ ที่

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา

Office Number 191 , 19th Floor

Kaskad Business Centre,

6/1 Kabanbay Batyr Avenue

Astana , Kazakhstan

หมายเลขโทรศัพท์ +7 (7172) 926440

โทรสาร +7 (7172) 926422 อีเมล์ [email protected]

หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ จนท. กงสุล กรณีเหตุด่วน/ฉุกเฉิน  +7 778 397 8123 ตลอด 24 ชม.  

โดยขอความร่วมมือคนไทยทุกคนแจ้งข้อมูล ดังนี้

- ชื่อ-สกุล และคำนำหน้า

- ชื่อ-ที่อยู่สถานที่ทำงาน (กรณีทำงาน)

- ที่อยู่ในคาซัคสถานและในประเทศไทย

- หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหมายเลขโทรศัพท์บ้าน/ที่ทำงาน

- ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ประสงค์ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ แจ้งข่าวสารหรือท่านสามารถส่งโทรสารถึงสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ที่ +7 (7172) 926422

3.      ติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ วิทยุ และกับกลุ่มคนไทยที่รู้จัก หมั่นตรวจสอบข่าวสารจากหน้าเว็บไซต์สถานทูต ที่ http://www.thaiembassy.org/astana

4.      พยายามติดต่อกลุ่มคนไทยอย่างสม่ำเสมอ

กรณีสภาวะที่มีความไม่ปลอดภัย/เหตุการณ์ฉุกเฉิน

1.      เตรียมเอกสารเดินทางให้พร้อมเดินทางหากจำเป็น

2.      ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขอรับข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว

3.      ติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ วิทยุ และกลุ่มคนไทยที่รู้จัก แจ้งให้เพื่อนคนไทยทราบว่าเราอยู่ที่ไหน จะไปที่ไหน มั่นตรวจสอบข่าวสารจากหน้าเว็บไซต์สถานทูต http://www.thaiembassy.org/astana

4.      สำรองอาหาร เครื่องดื่ม เชื้อเพลิงที่จำเป็น

5.      หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีปัญหา หลีกเลี่ยงการเดินทางในยามวิกาล

6.      ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้กับตนและบุคคลในครอบครัว บุคคลที่ไม่มีความจำเป็นอาจพิจารณาเดินทางออกนอกพื้นที่เสี่ยงภัย

 

กรณีเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

1. หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน สถานเอกอัครราชทูตฯ มีสายด่วนให้ท่านสอบถามข่าวสารและขั้นตอนการปฏิบัติ (ในชั้นนี้จะเป็นหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ +7 778 397 8123 จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง)

กรณีที่เกิดเหตุการณ์ในกรุงอัสตานา สถานเอกอัครราชทูตฯ จะเป็นศูนย์อำนวยการโดยจัดเจ้าหน้าที่ผลัดเวรประจำที่ตลอดเวลา

กรณีที่เกิดเหตุการณ์ในเมืองอัลมาตี สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอัลมาตี จะเป็นศูนย์อำนวยการ โดยจัดเจ้าหน้าที่ผลัดเวรประจำที่ตลอดเวลา

กรณีที่เกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากกรุงอัสตานาและเมืองอัลมาตี สถานเอกอัครราชทูตฯ จะหาสถานที่ที่เหมาะสมในการตั้งศูนย์อำนวยการ โดยจัดเจ้าหน้าที่ผลัดเวรประจำที่ศูนย์ตลอดเวลา

2. หากมีการประกาศอพยพ ขอให้คนไทยทุกคนรายงานตัวต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อลงทะเบียนคนไทยและเข้าสู่ขั้นตอนดำเนินการอพยพ ได้แก่

2.1 แจ้งข่าวคนไทยในพื้นที่ ให้เดินทางออกนอกพื้นที่ให้มากที่สุดขณะที่การบริการคมนาคมเชิงพาณิชย์ยังเป็นปกติอยู่

2.2 สถานเอกอัครราชทูตฯ จะประสานกับสายการบินในการส่งรายชื่อคนไทย

2.3 ในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน เร่งด่วน หากเที่ยวบินไม่เพียงพอ จะขอให้จัดเที่ยวบินพิเศษโดยเป็นเครื่องบินของกองทัพไทยหรือเครื่องบินพาณิชย์อื่นๆ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม

2.4 จะมีการเตรียมปัจจัยดำรงชีพต่างๆ และที่พักให้กับคนไทย ทั้งนี้ กำหนดให้ระยะเวลาการอพยพคนไทยและข้าราชการกลับประเทศไทยภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการประกาศการอพยพ

------------------------------------------------------------------

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา

31 ธันวาคม 2561