วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 62,270 view

สาธารณรัฐคาซัคสถาน
Republic of Kazakhstan

 

ข้อมูลทั่วไป (ปี ๒๕๖๑)

ที่ตั้ง                     อยู่ในเขตเอเชียกลาง ทางตอนกลางของที่ราบยูเรเซีย ระหว่างรัสเซียและอุซเบกิสถาน โดยทิศตะวันออกติดจีน ทิศตะวันตกติดทะเลสาบแคสเปียนทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดสาธารณรัฐคีร์กีซ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับเติร์กเมนิสถาน

พื้นที่                     ๒,๗๑๗,๓๐๐ ตารางกิโลเมตร (ประมาณ ๕ เท่าของไทย และมีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ ๙ ของโลก ถือได้ว่ามีขนาดประมาณยุโรปตะวันตก)

เมืองหลวง             กรุงนูร์-ซุลตัน (Nur-Sultan) คาซัคสถานเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากอัสตานา (Astana) เป็นนูร์-ซุลตัน เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒

                              (รัฐบาลคาซัคสถานย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตีไปนูร์-ซุลตัน (อัสตานา) เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑

ประชากร               ๑๘.๕ ล้านคน (กรกฎาคม ๒๕๖๐)

ภูมิอากาศ              ทะเลทรายแบบภาคพื้นทวีปฤดูหนาว หนาวจัด (ประมาณ -๑๘ ถึง -๔๐ องศาเซลเซียส) ฤดูร้อน ร้อนจัดและแห้ง (ประมาณ ๒๐-๓๕ อาศาเซลเซียส) 

ภาษา                      - ภาษาคาซัคเป็นภาษาประจำชาติ (state language) มีคนใช้ประมาณ ๖๔ %
                               - ภาษารัสเซียเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างเชื้อชาติต่าง ๆ มีคนใช้กว่า ๙๕ %

ศาสนา                    อิสลาม ๗๐.๒% (ส่วนใหญ่นับถือนิกายสุหนี่) คริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ ๒๖.๒% อเทวนิยม ๒.๘% อื่นๆ ๐.๗%

หน่วยเงินตรา          เทงกี้ (Kazakhstan Tenge) อัตราแลกเปลี่ยน ๑ บาท = ๑๐.๕๐ เทงกี้ (สิงหาคม ๒๕๖๑)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ     ๑๖๓.๔๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๖๐)

รายได้ประชาชาติต่อหัว              ๙,๒๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี ๒๕๖๑)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ          ๓.๘ % (ประมาณการปี ๒๕๖๑)

อัตราเงินเฟ้อ                       ร้อยละ ๗.๑ (ปี ๒๕๖๐)

ระบบการปกครอง                - ระบอบสาธารณรัฐ มี ปธน. เป็นประมุข (Presidential Republic) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา นรม. เป็นประธาน ครม. และหัวหน้ารัฐบาล

                                             - คาซัคสถานแบ่งออกเป็น ๑๔ จังหวัด (provinces - oblystar) และ ๓ เทศบาลนคร (cities - qalalar) ทุกจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด (akim) ที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

ประธานาธิบดี (รักษาการ)           นายคาซึม-โยมาร์ต โตคาเยฟ (Mr. Kassym-Jomart Tokayev)   

นายกรัฐมนตรี           นายอัสคาร์ มามิน (Mr. Askar Mamin ตั้งแต่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ          นายเบย์บุต อาตัมคูลอฟ  (Mr. Beibut Atamkulov ตั้งแต่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๑) 

วันชาติ (Independence Day)      ๑๖ ธันวาคม

อุตสาหกรรม                    อุตสาหกรรมด้านพลังงานเป็นหลัก (สัดส่วนประมาณ ๖๐% ของการส่งออกทั้งหมด) โดยรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมัน

ทรัพยากรธรรมชาติ                น้ำมัน (มีน้ำมันสำรอง ๒.๕% ของปริมาณน้ำมันโลก) ก๊าซธรรมชาติ (ปริมาณสำรองมากเป็นอันดับ ๑๔ ของโลก) ยูเรเนียม (ปริมาณสำรองมากเป็นอันดับ ๒ ของโลก) โครเมียม เหล็ก ทองแดง (ผลิตได้มากเป็นอันดับ ๔ ของโลก) ทองคำ (ปริมาณสำรองมากเป็นอันดับ ๗ ของโลก) เงิน และ ข้าวสาลี

ตลาดนำเข้าที่สำคัญ                รัสเซีย จีน เยอรมนี สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ยูเครน อิตาลี เกาหลีใต้ ตุรกี อุซเบกิสถาน

ตลาดส่งออกที่สำคัญ               จีน เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย ฝรั่งเศส อิตาลี โรมาเนีย กรีซ ออสเตรีย เยอรมนี สเปน

สินค้านำเข้าที่สำคัญ                รถยนต์ เครื่องจักร โลหะ เครื่องบริโภค

สินค้าส่งออกที่สำคัญ               น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โลหะภัณฑ์ เคมี เครื่องจักร ธัญพืช ขนแกะ เนื้อสัตว์ ถ่านหิน

 

การเมืองการปกครอง

          คาซัคสถานมีระบบการเมืองแบบรัฐสภาโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี ๒ คน และรัฐมนตรี ๑๓ คน ระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๕๘ – กันยายน ๒๕๕๙ ประธานาธิบดี Nazarbayev ได้แต่งตั้งบุตรสาวคือ นาง Dariga Nazarbayeva ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการด้านต่างประเทศ การป้องกันประเทศ และความมั่นคงของวุฒิสภาคาซัคสถานจนถึงปัจจุบัน ประธานาธิบดี Nazarbayev เป็นอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งคาซัคสถานตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตและได้รับเลือกดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถานตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ ประธานาธิบดี Nazarbayev ได้ตั้งแต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ๔ ตำแหน่ง ได้แก่ นาย Mukhtar Tleuberdi  ดำรงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนที่ ๑ และแต่งตั้งนาย Yerzhan Ashikbayev นาย Roman Vassilenko นาย Galymzhan Koishybayev ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเช่นกัน

          นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ คาซัคสถานได้จัดการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (Mazhilis) ตามที่ ประธานาธิบดี Nazarbayev ได้ลงนามในกฤษฎีกายุบสภาฯ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๙ ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรค Nur Otan ของประธานาธิบดี Nazarbayev ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ ๘๒ และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้รับเลือกกลับสู่สภาฯ อีกสมัย
         

เศรษฐกิจ

         เศรษฐกิจของคาซัคสถานพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศครั้งใหญ่เพื่อส่งเสริมพื้นฐานของการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รัฐบาลคาซัคสถานอยู่ระหว่างแปรรูปรัฐวิสาหกิจและโดยการแก้กฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ปัจจุบันคาซัคสถานต้องการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพา การส่งออกน้ำมันที่ประสบกับปัญหาราคาลดต่ำลง

         คาซัคสถานเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล (landlocked) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีกำลังทุนและทรัพยากร มหาศาล ในเดือนกันยายน ๒๕๕๗ คาซัคสถานประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติภายใต้วิสัยทัศน์ Nurly Zhol  หรือ ‘เส้นทางสู่อนาคต’ (The Path to the Future) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยง ระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป โดยโครงการดังกล่าวได้รับอิทธิพลทางความคิดและแรงผลักดันจากข้อริเริ่มแถบเศรษฐกิจ เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (The New Silk Road Economic Belt - SREB) คาซัคสถานตั้งเป้าหมายมูลค่าการลงทุน ในวิสัยทัศน์ Nurly Zhol กว่า ๔ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ๒๕๖๓ โดยปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้วกว่า ๙ พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐ 

          ถึงแม้คาซัคสถานจะไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่รัฐบาลคาซัคสถานก็ได้พัฒนาการขนส่งทางบกโดยใช้ประโยชน์จากระเบียงการขนส่งระหว่างประเทศข้ามพรมแดนของคาซัคสถานทั้ง 4 สาย ประกอบด้วย

  1. Trans-Asian Railway Main (TRAM) ระเบียงทิศเหนือเชื่อมระหว่างยุโรปตะวันตก – จีน – คาบสมุทรเกาหลีและญี่ปุ่น ผ่านรัสเซีย
  2. Trans-Asian Railway Main (TRAM) ระเบียงทิศใต้ เชื่อมระหว่างยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ – จีน – เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านตุรกี อิหร่าน เอเชียกลาง
  3. Transport Corridor Europe-Caucasus-Asia (TRACECA) เชื่อมระหว่างยุโรปตะวันออก – เอเชียกลาง ผ่านทะเลดำ คอเคซัส และทะเลสาปแคสเปียน
  4. ระเบียงเหนือ-ใต้ เชื่อมระหว่างยุโรปตอนเหนือ – ตะวันออกกลาง ผ่านรัสเซีย อิหร่าน

          คาซัคสถานเป็น ๑ ใน ๑๐ ประเทศผู้ส่งออกธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดของโลกโดยเฉพาะข้าวสาลี ทั้งนี้ มีพื้นที่เพียงร้อยละ ๒๕ ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ในปี ๒๕๕๙ คาซัคสถานผลิตธัญพืชได้ ๒๓.๗ ล้านตัน ตลาดส่งออกธัญพืช ได้แก่ อุซเบกิซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ตุรกี และอิหร่าน ในปี ๒๕๖๑ รัฐบาลคาซัคสถานจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองและเมล็ดพืชที่ให้น้ำมัน ประธานาธิบดีคาซัคสถานตั้งเป้าหมายให้คาซัคสถานเป็นประเทศผู้ส่งออกธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดของโลกโดยเน้นการปลูกแบบออร์แกนิก

          ในปี ๒๕๖๐ สหภาพยุโรปยังคงเป็นคู่ค้าสำคัญของคาซัคสถาน โดยมูลค่าทางการค้าคิดเป็นร้อยละ ๓๘.๖๐ของการค้าทั้งหมด รัสเซียร้อยละ ๒๒ และจีนร้อยละ ๑๒ ในขณะที่การค้าระหว่างคาซัคสถานกับสหภาพเศรษฐกิจ ยูเรเชีย[1](Eurasian Economic Union-EEU) คิดเป็นร้อยละ ๒๒.๔๖ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๘ จากปี ๒๕๕๙

 

นโยบายต่างประเทศและบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

          นับตั้งแต่แยกตัวจากสหภาพโซเวียต คาซัคสถานได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของคาซัคสถานเป็นหลัก ด้วยนโยบายที่มุ่งเน้นความเป็นกลางทางการเมืองในเวทีระหว่างประเทศ และเข้าร่วมกิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศอย่างแข็งขัน ส่งเสริมนโยบายต่างประเทศรอบด้าน (Multi-Vectored Foreign Policy) โดยให้ความสำคัญกับรัสเซีย จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นหลัก รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในเอเชียและประเทศในตะวันออกกลางด้วยการขยายความสัมพันธ์มายังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเข้าเป็นสมาชิก Asia Cooperation Dialogue (ACD) Asia – Europe Meeting (ASEM) และความสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก ASEAN Regional Forum (ARF)

          นอกจากนี้ คาซัคสถานยังคงดำเนินนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกและมีทิศทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นความเชื่อมโยง (connectivity) กับภูมิภาคต่างๆ โดยการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงกับประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง  ตามด้วยความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน สังคมและวัฒนธรรม ด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเพิ่มกับประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา ลาตินอเมริกา และหมู่เกาะแปซิฟิก รวมทั้งความสำคัญกับประเด็นเรื่องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ การก่อการร้าย โรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยาเสพติด และความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) เป็นต้น

          คาซัคสถานได้รับการรับรองเข้าเป็นสมาชิก World Trade Organization (WTO) อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ ส่วนองค์กรอื่นๆ ที่คาซัคสถานเป็นสมาชิก ได้แก่ Shanghai Cooperation Organization (SCO)[2], Commonwealth of Independent States (CIS), Organization for Security and Cooperation in Europe (OSCE)[3] และ Organisation of Islamic Cooperation (OIC) นอกจากนี้ คาซัคสถานเป็นผู้ก่อตั้งการประชุมระหว่างประเทศอย่าง Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia (CICA)[4] ซึ่งประธานาธิบดี Nazarbayev เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ ๔๗ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ปัจจุบัน ถึงแม้ทาจิกิสถานจะดำรงตำแหน่งประธาน CICA (ต่อจากคาซัคสถาน ตุรกี จีน) ระหว่าง ๒๕๖๑ - ๒๕๖๓ แต่สำนักเลขาธิการ CICA อยู่ที่กรุงอัสตานา

          ประธานาธิบดี Nazarbayev เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งองค์การความร่วมมืออิสลามเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Islamic Organisation for Food Security – IOFS) ภายใต้ OIC โดยมีสำนักงานใหญ่ ณ กรุงอัสตานา ซึ่งได้จัดประชุมสมัชชาทั่วไปขององค์การฯ เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ เมษายน ๒๕๕๙ ณ กรุงอัสตานา  นอกจากนี้ เมืองอัลมาตี ยังได้รับเลือกจาก Islamic International Educational, Cultural and Scientific Organization ให้เป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมอิสลาม (Capital of Islamic Culture) แห่งปี ๒๕๕๘

          สำหรับบทบาทของคาซัคสถานในองค์กรระหว่างประเทศนั้น คาซัคสถานได้ดำรงตำแหน่งประธาน OSCE ในปี ๒๕๕๓ และประธาน SCO ระหว่าง ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศหุ้นส่วนความร่วมมือแห่งเอเชียใน OSCE ในปี ๒๕๕๔ ดำรงตำแหน่งประธาน OIC ในปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕ และดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศ CIS ปี ๒๕๕๘ นอกจากนี้ คาซัคสถานได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพงาน EXPO ๒๐๑๗ รวมถึงการได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗-๒๐๑๘

          หลายปีที่ผ่านมา คาซัคสถานได้ยกสถานะของตนในเวทีระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น อาทิ การเป็นเจ้าภาพการเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในซีเรียเมื่อปี ๒๕๕๘ การจัดตั้งธนาคารเชื้อเพลิงยูเรเนียมพลังงานต่ำของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA Low Enriched Uranium Bank) ในคาซัคสถาน เป็นการตอกย้ำนโยบายของคาซัคสถานในเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ การเป็นเจ้าภาพจัด Retreat for the Landlocked Developing Countries (LLDCs) เมื่อปี ๒๕๕๗  

          คาซัคสถานได้ริเริ่มการจัดประชุม The Congress of Leaders of World and Traditional Religions ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เพื่อเป็นเวทีเสวนาระหว่างกลุ่มศาสนาต่าง ๆ และส่งเสริมขันติธรรมของการอยู่ร่วมกันโดยนาย Ban Ki Moon เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวชื่นชมข้อริเริ่มของคาซัคสถานดังกล่าวระหว่างการหารือกับประธานาบดี Nazarbayev เพื่อเข้าร่วมการประชุม The Fifth Congress of Leaders of World and Traditional Religions เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘ ณ กรุงอัสตานา

          เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ ประธานาธิบดี Nazarbayev ได้แถลงนโยบายการต่างประเทศของคาซัคสถาน ระหว่างการประชุมคณะผู้แทนทางการทูตต่างประเทศประจำคาซัคสถาน ประจำปี ๒๕๕๙ ซึ่งประธานาธิบดี Nazarbayev ยังคงดำเนินนโยบายต่างประเทศรอบด้าน โดยให้ความสำคัญการประเทศในเอเชียกลาง การขยายความร่วมมือกับสหภาพยุโรป การขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ การสร้างความสัมพันธ์กับโลกมุสลิมและประเทศในตะวันออกกลาง การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยีกับเอเชียแปซิฟิก พร้อมทั้งมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งในมิติเศรษฐกิจคาซัคสถานให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจกับภูมิภาคยูเรเชียด้วยการยกระดับสถานะของคาซัคสถานให้เป็นจุดศูนย์กลางของยูเรเชียด้วยการพัฒนาความร่วมมือภายใน EEU การผลักดันจากข้อริเริ่มแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันใน SCO และการยกระดับ CICA เป็น OSDA ส่วนในมิติความมั่นคงระหว่างประเทศคาซัคสถานหวังผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการระงับข้อพิพาทการพัฒนา Plan of Global Strategic Initiative และการลดอาวุธ คาซัคสถานสนับสนุนการปฏิบัติการเชิงรุกในการต่อต้านการสะสมอาวุธ และวางนโยบายให้ศตวรรตที่ ๒๑ เป็นศตวรรษแห่งการลดอาวุธนิวเคลียร์ของมวลมนุษยชาติ การขอรับการสนับสนุนจากทุกประเทศต่อการลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวร UNSC วาระปีค.ศ. ๒๐๑๗-๒๐๑๘

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับคาซัคสถาน

. ความสัมพันธ์ทั่วไป

          ๑.๑ ความสัมพันธ์ทางการทูต

          ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคาซัคสถานเมื่อปี ๒๕๓๕ โดยไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอัลมาตี ส่วนคาซัคสถานมีสถานเอกอัครราชทูตคาซัคสถานประจำประเทศไทย และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์คาซัคสถานประจำจังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์คาซัคสถานประจำกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙  ทั้งนี้ ไทยและคาซัคสถานมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-คาซัคสถาน (Joint Commission for Bilateral Cooperation – JC) เป็นกรอบความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายใช้เป็นเวทีในการทบทวน ติดตาม และผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในมิติต่าง ๆ โดยได้ประชุมแล้ว ๓ ครั้ง ในปี ๒๕๔๖ ปี ๒๕๕๕ และปี ๒๕๖๐ นอกจากนี้ ไทยและคาซัคสถานมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำ ๒ ครั้งในปี ๒๕๓๖ (ปธน. คาซัคสถานเยือนไทย) และปี ๒๕๔๗ (นรม. ไทยเยือนคาซัคสถาน) ล่าสุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เมืองอัลมาตี เพื่อประทับพักพระราชอิริยาบทในระหว่างเปลี่ยนเครื่องบินพระที่นั่งจากสาธารณรัฐคีร์กีซเสด็จฯ กลับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๙

          ๑.๒ ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

          ไทยกับคาซัคสถานมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น คาซัคสถานได้ให้การสนับสนุนไทยในการสมัครเป็นสมาชิกการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในภูมิภาคเอเชีย (CICA) ในทางกลับกันไทยได้สนับสนุนคาซัคสถานในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความร่วมมือเอเชีย (ACD) และการประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM)

          ๑.๓ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

         คาซัคสถานเป็นคู่ค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในเอเชียกลางของไทย แม้ว่าเศรษฐกิจของคาซัคสถานได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำและเงินเทงกี้ที่อ่อนค่า ในปี ๒๕๖๐ การค้าระหว่างไทยกับคาซัคสถานมีมูลค่า ๙๓.๔๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก ๕๐.๐๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า ๔๓.๓๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุล ๖.๗๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังคาซัคสถาน ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตู้เย็นและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณี อุปกรณ์ทางการแพทย์ ในขณะที่สินค้าสำคัญที่นำเข้าหลักจากคาซัคสถาน ได้แก่ โลหะ เหล็ก สินแร่อื่น ๆ เคมีภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย

         การลงทุน ปัจจุบันคาซัคสถานได้เข้ามาลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต มูลค่าประมาณ ๑๕๕ ล้านบาท โดยขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นอกจากนี้ ในปี ๒๕๖๐ มีแรงงานไทยทำงานในคาซัคสถานประมาณ ๓๐๐ คน ส่วนใหญ่ทำงานที่เมือง Atyrau และ Aktau ในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน ผู้ประกอบอาหารและพนักงานสปาในเมืองใหญ่ของคาซัคสถาน

          รัสเซียและคาซัคสถานได้ทาบทามให้ไทยเข้าร่วมความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับ EEU ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างเจรจาร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างคณะกรรมธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย(Eurasian Economic Commission – EEC) กับรัฐบาลไทย

         ๑.๔ การท่องเที่ยว 

         ปัจจุบันสายการบิน Air Astana ให้บริการเที่ยวบินตรงจากเมืองอัลมาตีและกรุงอัสตานามายังกรุงเทพฯ โดยนักท่องเที่ยวคาซัคมาสถานนิยมเดินทางไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี ๒๕๖๐ มีชาวคาซัคสถานจำนวน ๕๗,๒๓๖ คนเดินทางมายังประเทศไทย เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๙ ร้อยละ ๑๙.๑๕

         ๑.๕ ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม

          ชาวคาซัคนิยมกีฬามวยไทย โดยมีการจัดตั้งสมาคมมวยไทยแห่งคาซัคสถาน อีกทั้งยังมีอดีตนายกรัฐมนตรีคาซัคสถาน (นาย Karim Massimov) ดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นแห่งเอเชีย (Federation of Amateur Muaythai of Asia-FAMA) นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ได้สถาปนาความเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับกรุงอัสตานา เมื่อปี ๒๕๔๗ เมืองพัทยาสถาปนาความเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับเมืองชิมเคนต์ (Shymkent) เมื่อปี ๒๕๔๕

          ๑.๖ การพัฒนาข้าราชการพลเรือน

          ไทยและคาซัคสถานมีความร่วมมือทวิภาคีด้านการพัฒนาข้าราชการพลเรือนผ่านบันทึกความเข้าใจว่าด้วย
ความร่วมมือด้านข้าราชการพลเรือนไทย-คาซัคสถาน และความร่วมมือพหุภาคีผ่านกรอบความร่วมมือระหว่าง Regional Hub of Civil Service การสนับสนุนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)  

๒. ความตกลงที่สำคัญ

          ๒.๑ ความตกลงที่ลงนามแล้ว

               ๑. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-คาซัคสถาน

               ๒. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย-คาซัคสถาน

               ๓. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมคาซัคสถาน (สหภาพหอการค้าและอุตสาหกรรมคาซัคสถานได้ถูกยกเลิกและได้มีการจัดตั้ง National Chamberof Entrepreneurs in Kazakhstan ในปี ๒๕๕๖ (ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในการพิจารณาลงนามความตกลงฉบับใหม่)

               ๔. พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-คาซัคสถาน

               ๕. ความตกลงว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกรุงอัสตานาและกรุงเทพฯ (บ้านพี่เมืองน้อง)

               ๖. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องเมืองพัทยาและเมืองชิมเคนท์

               ๗. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านข้าราชการพลเรือนไทย-คาซัคสถาน

               ๘. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางพิเศษ/หนังสือเดินทางราชการ

          ๒.๒ ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

               ๑. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไทย-คาซัคสถาน

               ๒. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในด้านกีฬาไทย-คาซัคสถาน

               ๓. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม การศึกษา และกีฬาไทย-คาซัคสถาน

               ๔. สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐคาซัคสถานว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฏหมายในคดีอาญา

               ๕. สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐคาซัคสถานว่าด้วยการโอนตัวนักโทษ

               ๖. สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐคาซัคสถานว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

               ๗. อนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับคาซัคสถาน

               ๘. ความตกลงด้านการค้าไทย-คาซัคสถาน

               ๙. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรไทย-คาซัคสถาน

               ๑๐. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวไทย-คาซัคสถาน  

               ๑๑. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติดฯ ไทย-คาซัคสถาน
              

. การเยือนที่สำคัญ

        ๓.๑ ฝ่ายไทย

               พระราชวงศ์

- ในเดือนเมษายน ๒๕๔๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนคาซัคสถาน ในฐานะอาคันตุกะของรัฐบาลคาซัคสถาน
- ในเดือนเมษายน ๒๕๕๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เมืองอัลมาตีเพื่อประทับพักพระราชอิริยาบทในระหว่างเปลี่ยนเครื่องบินพระที่นั่งในวโรกาสเสด็จฯ เยือนทาจิกิสถาน

- ในเดือนเมษายน ๒๕๕๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เมืองอัลมาตี
เพื่อประทับพักพระราชอิริยาบทในระหว่างเปลี่ยนเครื่องบินพระที่นั่งจากสาธารณรัฐคีร์กีซเสด็จฯ กลับประเทศไทย

                รัฐบาล

- ในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางเยือนกรุงอัสตานา เพื่อลงนามข้อตกลงว่าด้วยการสถาปนาความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง

- ในเดือนตุลาคม ๒๕๔๗ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนคาซัคสถานอย่างเป็นทางการ และเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ของ CICA ครั้งที่ ๒

- ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนคาซัคสถานอย่างเป็นทางการ

- ในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอด CICA ครั้งที่ ๒

- ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐ นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเข้าร่วมการประชุม ESCAP ครั้งที่ ๖๓

- ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑ นายจริยวัฒน์ สันตะบุตร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเข้าร่วมการประชุม Focus Group ด้านเศรษฐกิจไทย-คาซัคสถาน

- ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือน

คาซัคสถานอย่างเป็นทางการ

- ในเดือนกันยายน ๒๕๕๕ นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเยือนคาซัคสถานอย่างเป็นทางการ และเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ของ CICA ครั้งที่ ๔

- คณะผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงวัฒนธรรม เดินทางเยือนคาซัคสถานในช่วงงาน Astana Expo ๒๐๑๗ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมของ Thai Pavilion ได้แก่

(๑) เดือนมิถุนายน ๒๕๖๐ พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน

(๒) เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

(๓) เดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และนายพิเชฐ

ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

(๔) เดือนกันยายน ๒๕๖๐ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

         ๓.๒ ฝ่ายคาซัคสถาน

                รัฐบาล

- ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๖ ประธานาธิบดี Nursultan Nazarbayev เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 

- ในเดือนเมษายน ๒๕๔๐ นาย Kassym – Jomart Tokayev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเข้าร่วมการประชุม ESCAP ครั้งที่ ๕๓ 

- ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ นาย Kassym – Jomart Tokayev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเข้าร่วมการประชุม ESCAP ครั้งที่ ๖๑ และเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

- ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ นาย Nurlan Yermekbayev รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของ CICA

- ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕ นาย Kairat Sarybay รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนายจุลพงษ์

โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศที่ประเทศไทย ก่อนการเดินทางไปเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ

- ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕ นาง Gulshara Abdykalikova รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมของประชากร เดินทางเยือนไทยเพื่อร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-คาซัคสถาน ครั้งที่ ๒



[1] Eurasian Economic Union ประกอบด้วย รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และสาธารณรัฐคีร์กีซ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศรวม ๔.๕๕ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อาเซียน ๒.๔ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีประชากรรวมทั้งสิ้น ๑๗๐ ล้านคน (อาเซียน ๖๒๕ ล้านคน) มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย  EEU มีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรีภายในกลุ่ม ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานเป็นไปอย่างเสรี และพัฒนาเครือข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตร แรงงาน และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ฯลฯ จึงทำให้ EEU เป็นเขตเศรษฐกิจที่น่าจับตามองพัฒนาการต่อไป

[2] SCO ก่อตั้งในปี ๒๕๔๔ ที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยผู้นำจีน คาซัคสถาน สาธารณรัฐคีร์กีซ รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน ซึ่งพัฒนามาจาก (Shanghai Five) เดิม ๕ ประเทศ ยกเว้นอุซเบกิสถาน ที่ได้ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๙ เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับพรมแดนของประเทศสมาชิก และต่อมาอุซเบกิสถานเข้าร่วมในปี ๒๕๔๔ จึงได้เปลี่ยนชื่อองค์การมาเป็นดังในปัจจุบัน และขยายขอบเขตความร่วมมือให้ครอบคลุมด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจการค้า วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา พลังงาน การคมนาคม

[3] OSCE เป็นเวทีปรึกษาหารือผ่านเวทีทางการทูตเพื่อระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป มีประเทศสมาชิก ๕๗ ประเทศ จากภูมิภาคยุโรป เอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และอเมริกาเหนือ และมีประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือ ๑๑ ประเทศ จากเอเชีย ๕ ประเทศ และเมดิเตอร์เรเนียน ๖ ประเทศ โดยไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศเดียวที่เป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือของ OSCE

[4] CICA ก่อตั้งเพื่อเป็นกลไกส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย มีสมาชิก ๒๗ ประเทศ (สมาชิกต้องมีดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งในเอเชีย) ได้แก่ อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ กัมพูชา จีน อียิปต์ อินเดีย อิหร่าน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คาซัคสถาน สาธารณรัฐคีร์กีซ มองโกเลีย ปากีสถาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ เกาหลีใต้ รัสเซีย ทาจิกิสถาน ไทย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุซเบกิสถาน เวียดนาม และศรีลังกา (ไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ ๑๗ เมื่อปี ๒๕๔๗)

**************************

สถานเอกอัครราชทูตคาซัคสถานประจำประเทศไทย

เอกอัครราชทูต นาง Raushan Yesbulatova

ที่ตั้ง Office 804A, GPF Witthayu Towers,

93/1 Wireless Road, Bangkok 10330

Tel: 02 254 3043/45    Fax: 02 254 3042

***************************

กองเอเชียใต้และเอเชียกลาง

กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

พฤษภาคม ๒๕๕๙

ปรับปรุงโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา

ธันวาคม ๒๕๖๑