วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 33,845 view

สาธารณรัฐคีร์กีซ

Kyrgyz Republic

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อยู่ในเอเชียกลาง ทางทิศตะวันตกของจีนและทิศใต้ของคาซัคสถาน ระหว่างเทือกเขาเทียนชานและปาเมียร์

พื้นที่ ๑๙๙,๙๕๑ ตารางกิโลเมตร (ประมาณ ๑ ใน ๓ ของไทย) เป็นพื้นที่เพาะปลูก ๗%ภูมิอากาศ ภูเขาสูงแบบภาคพื้นทวีป

เมืองหลวง กรุงบิชเคก (Bishkek)

ประชากร ๖.๐๓ ล้านคน  (๒๕๕๘) เป็นชาวคีร์กีซ (๗๐.๙ %) ชาวอุซเบก (๑๔.๓ %) ชาวรัสเซีย (๗.๗ %) อื่น ๆ (๗.๑ %)

ศาสนา อิสลาม (สุหนี่) ๗๕ % คริสต์ออร์โธดอกซ์  ๒๐ %

ภาษาราชการ คีร์กีซ และรัสเซีย

วันชาติ ๓๑ สิงหาคม (เรียกว่าวันประกาศเอกราช เริ่มใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต)

สกุลเงิน เงินซอม (Som)

เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT ๕ ชั่วโมง

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ๖ สิงหาคม ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒)

ประมุข    ประธานาธิบดี นาย Sooronbai Zheenbekov

นายกรัฐมนตรี     นาย Mukhammedkalyi Abylgaziev

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ      นาย Chingiz Azamatovich Aidarbekov


การเมืองการปกครอง
การเมืองหลังการประกาศเอกราช

            นับแต่สาธารณรัฐคีร์กีซได้แยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ ได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการปกครองระบบสภาเดียวเรียกว่า Jogorku Kenesh มีวาระ ๕ ปี โดยภายหลังจากการลงประชามติเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ ที่นั่งของผู้แทนรัฐสภาเพิ่มขึ้นจาก ๙๐ ที่นั่ง เป็น ๑๒๐ ที่นั่ง
            การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งลดอำนาจประธานาธิบดี โดยให้รัฐสภาและนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเพิ่มขึ้น กำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้เพียง ๖ ปี วาระเดียว โดยไม่สามารถลงเลือกตั้งซ้ำในวาระต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียังคงเป็นผู้นำแห่งรัฐและผู้บัญชา การสูงสุดของกองทัพ มีหน้าที่กำหนดนโยบายการต่างประเทศ ความมั่นคง นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในกรณีที่พรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา
สมัยประธานาธิบดี Askar Akayev ๒๕๓๔-๒๕๔๘
            เมื่อสาธารณรัฐคีร์กีซแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๔  นาย Askar Akayev ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของคีร์กีซภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ ปี ๒๕๓๓ ได้รับการลงประชามติให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐคีร์กีซ ในปี ๒๕๓๔ และได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องอีกสองสมัย ในปี ๒๕๓๘ และ ๒๕๔๓ ตามลำดับ  ต่อมา ประชาชนเกิดความไม่พอใจต่อการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Akayev กอปรกับมีความผิดปกติเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ทำให้ประชาชนประท้วงและ
ในที่สุดได้โค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดี Akayev ออกจากอำนาจได้สำเร็จในปี ๒๕๔๘

สมัยประธานาธิบดี Kurmanbek Bakiev ๒๕๔๘-๒๕๕๓
            นาย Kurmanbek Bakiev ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการภายหลังประธานาธิบดี Akayev ถูกโค่นล้มอำนาจและได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีในปี ๒๕๔๘ แต่ก็เกิดการชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๙  เป็นต้นมา โดยผู้นำฝ่ายค้านและผู้นำการชุมนุมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย จนในที่สุดเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๓ ประชาชนได้รวมกันขับไล่ประธานาธิบดี Bakiev ให้ลาออกจากตำแหน่งสำเร็จ
สมัยประธานาธิบดี Almazbek Atambayev ๒๕๕๓ – ปัจจุบัน
            ภายหลังจากการลาออกของนาย Bakiev ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว นำโดยนาง Roza Otunbayeva ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งที่นำไปสู่การปะทะและความรุนแรงระหว่างชาวคีร์กีซเชื้อสายอุซเบก และเชื้อสายคีร์กีซ และในปี ๒๕๕๓ รัฐบาลชั่วคราวได้จัดให้มีการลงประชามติให้การยอมรับรัฐธรรมนูญใหม่และรับรองการดำรงตำแหน่งของนาง Roza จนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ และเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๔ นาย Almazbek Atambayev นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี โดยประกาศนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวคีร์กีซ อนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปกำหนดจะมีขึ้นในปี ๒๕๖๐

 

สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน     
            ในปี ๒๕๕๘ รัฐสภาสาธารณรัฐคีร์กีซได้ลงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งนาย Temir Sariyev (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส) เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรครัฐบาลผสมสามพรรค ได้แก่ พรรค Social Democratic Party (SDPK) พรรค Ata Meken และพรรค Ar-Namis ต่อจากนาย Djoomart Otorbaev อดีตนายกรัฐมนตรีคีร์กีซซึ่งลาออกไปเนื่องจากไม่ประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลคีร์กีซกับบริษัท Centerra Gold ของแคนาดา เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ Kumtor ในคีร์กีซที่ยืดเยื้อมานานหลายปี โดยพรรคฝ่ายค้านและชาวคีร์กีซจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าควบคุมกิจการ (nationalize) ของบริษัท Centerra Gold ให้มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของรัฐซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีถูกกดดันให้ต่อรองการเพิ่มการร่วมทุนของรัฐบาลในโครงการดังกล่าวจากร้อยละ ๓๒.๗ เป็นร้อยละ ๕๐ (สัดส่วนการร่วมทุน
ร้อยละ ๓๒.๗ เป็นข้อตกลงเดิมระหว่างรัฐบาลกับบริษัทฯ เมื่อปี ๒๕๕๒)   
            ผลการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๘ ปรากฏว่าพรรค SDPK ยังคงได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด
แต่ไม่ได้ชนะเสียงข้างมาก จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับอีก ๓ พรรค ได้แก่ พรรค Onuguu-Progress พรรค Ata-Meken และพรรค Kyrgyzstan ในขณะที่พรรค Respublika - Ata Jurt และพรรค Bir Bol เป็นฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ การจัดตั้งรัฐบาลของคีร์กีซเป็นอันเสร็จสิ้นเมื่อประธานาธิบดี Atambayev แต่งตั้งนาย Temir Sariyev ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและนาย Erlan Abdyldaev ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกหนึ่งสมัย แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเสร็จสิ้นแล้วแต่หลายฝ่ายยังมีความกังวลเกี่ยวปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมและต้องเผชิญแรงกดดันจากประชาชนต่อปัญหาการบริหารราชการและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ภายในประเทศ แม้ว่าสาธารณรัฐคีร์กีซจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง แต่ในระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา ความผันผวนทางการเมืองยังผลให้ได้มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วจำนวน ๕ คน

 

เศรษฐกิจ (ปี ๒๕๕๘)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ๗.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายได้ประชาชาติต่อหัว ๑,๒๖๙.๑๔ ดอลลาร์สหรัฐ

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๓.๕

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ ๗.๕๐

อัตราการว่างงาน ร้อยละ  ๗.๕๐

อุตสาหกรรม เครื่องจักรขนาดเล็ก สิ่งทอ อาหารแปรรูป ซีเมนต์ รองเท้า ไม้ซุง ตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์

ทรัพยากรธรรมชาติ ทองคำ พลังงานน้ำ แร่โลหะที่หายาก ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ

ตลาดนำเข้าที่สำคัญ รัสเซีย (๓๓.๕%) จีน (๑๕.๖%) คาซัคสถาน (๑๔.๔%) เบลารุส (๘.๑%)อื่นๆ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี

ตลาดส่งออกที่สำคัญ สวิตเซอร์แลนด์ (๓๓%) คาซัคสถาน (๒๔%) รัสเซีย (๑๓%) อุซเบกิสถาน (๑๑%) อื่นๆ ได้แก่ จีน ตุรกี เติร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อัฟกานิสถาน

สินค้านำเข้าที่สำคัญ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิง อุปกรณ์การขนส่ง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ อาหาร โหละ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ทองคำ น้ำมันปิโตรเลียม สินค้าโภคภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ พลังงานไฟฟ้า ฝ้าย ขนสัตว์ เนื้อสัตว์ ยาสูบ ปรอท ยูเรเนียม

 

          ในช่วงแยกตัวมาจากสหภาพโซเวียต สาธารณรัฐคีร์กีซก็ยังเผชิญสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความผกผัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคีร์กีซได้พยายามสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว การบูรณาการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลให้สามารถเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี ๒๕๔๑ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม นโยบายทางเศรษฐกิจภายในประเทศต้องคำนึงถึงความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และต้องพยายามยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งที่มีรากฐานมาจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
          โครงสร้างเศรษฐกิจของสาธารณรัฐคีร์กีซเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่พึ่งการภาคการเกษตรเป็นหลักมาเป็นการพัฒนาภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม ในปี ๒๕๕๘ ผลผลิตมวลรวมในประเทศสาธารณรัฐคีร์กีซในภาคบริการเป็นภาคส่วนที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับประเทศกว่าร้อยละ ๕๐.๓ ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ ๓๕.๗  และภาคเกษตรกรรมร้อยละ ๑๔.๐ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลจากนโยบายพัฒนาภาคบริการ อาทิ การท่องเที่ยวและโรงแรม การค้า การเงิน อสังหาริมทรัพย์ และโทรคมนาคมและการสื่อสาร ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการผลิต การไฟฟ้า อุตสากรรมพลังงาน และการก่อสร้าง ก็มีบทบาทสำคัญในภาคอุตสากรรมของประเทศ ในภาคการเกษตร สาธารณรัฐคีร์กีซมีสินค้าเกษตรหลัก อาทิ ฝ้าย ขนแกะ ไหม ฟาง ป่าน หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ผัก และผลไม้
          ปัจจุบัน สาธารณรัฐคีร์กีซอยู่ระหว่างการพัฒนาด้านการค้า การธนาคาร ระบบตลาดหุ้น และการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐคีร์กีซที่ดำเนินมาตั้งแต่ได้รับเอกราชก็ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยร้อยละ ๗๐ ของกิจการของรัฐได้แปรรูปเป็นของเอกชนแล้ว อย่างไรก็ดี ในกิจการบางสาขา อาทิ เหมืองแร่ และการผลิตพลังงานไฟฟ้า รัฐวิสาหกิจยังคงมีบทบาทมาก โดยกิจการด้านอุตสาหกรรมร้อยละ ๙๐ ยังเป็นของรัฐ และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังประเทศตะวันตกมีเพียงเล็กน้อย รัฐบาลยังดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทางการเงินการคลัง การปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติจำนวนมาก อาทิ จากรัฐบาลญี่ปุ่นด้าโครงสร้างพื้นฐาน จากธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและพัฒนา (European Bank for Reconstruction and Development - EBRD) ในการฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไปสู่ระบบการตลาด นอกจากนี้ สาธารณรัฐคีร์กีซยังได้รับความช่วยเหลือจาก IMF และ World Bank ในการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ สำหรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มักจะอยู่ในรูปความช่วยเหลือทางเทคนิค
          ด้านการค้ากับต่างประเทศ รัสเซียเป็นคู่ค้าสำคัญของสาธาณรัฐคีร์กีซนับตั้งแต่ได้รับเอกราช อย่างไรก็ดี รัฐบาลคีร์กีซหันมาขยายการค้ากับต่างประเทศและเสาะหาตลาดใหม่ๆ นอกเหนือจากรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้แก่ จีน คาซัคสถาน ตุรกี และอุซเบกิสถาน รวมทั้งประเทศในเครือรัฐเอกราช โดยสาธารณรัฐคีร์กีซเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรีเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States Free Trade Area - CISFTA) ในปี ๒๕๕๗ ร่วมกับรัสเซีย ยูเครน เบลารุส อุซเบกิสถาน มอลโดวา อาร์เมเนีย และคาซัคสถาน
          ด้านการลงทุน รัฐบาลคีร์กีซได้ออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศต่างๆ อาทิ กฎหมายคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ กฎหมายให้สัมปทานแก่นักลงทุนต่างชาติ กฎหมายว่าด้วยการโอนกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชน และกฎหมายเกี่ยวกับระบบภาษี แต่ยังไม่สามารถดึงดูดการลงทุนได้เท่าที่ควร และสำหรับการลงทุนในด้านเหมืองแร่ทองคำและพลังงาน ซึ่งเป็นภาคที่ยังคงมีกำไรสูงที่สุดก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐ ทำให้มีประเทศที่เข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่จำกัด ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย ส่วนสหรัฐฯ ฝรั่งเศสและจีน กำลังมีโครงการเข้ามาลงทุนต่อไป
          ความพยายามล่าสุดของรัฐบาลคีร์กีซในการดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ได้แก่ การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (The Eurasian Economic Union - EEU) ในปี ๒๕๕๘ ร่วมกับรัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส และอาร์เมเนีย การบูรณาการทางเศรษฐกิจของอดีตประเทศในสหภาพโซเวียตดังกล่าว ส่งผลให้ EEU มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในสหภาพรวม ๔.๕๕ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (อาเซียน ๒.๔ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีประชากรรวมทั้งสิ้น ๑๗๐ ล้านคน (อาเซียน ๖๒๕ ล้านคน) มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย  EEU มีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรีภายในกลุ่ม ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานเป็นไปอย่างเสรี และพัฒนาเครือข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตร แรงงาน และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ฯลฯ
          สาธารณรัฐคีร์กีซเป็นประเทศที่ไม่ติดทะเล (landlocked) การคมนาคมหลักจึงอาศัยทางรถไฟและรถยนต์ ผ่านจีน รัสเซีย อินเดีย และอิหร่าน โดยมีการสร้างเส้นทางรถไฟจากเอเชียกลางไปยังเมืองท่าบันดาร์  อับบาส (Bandar Abbas) ของอิหร่าน ซึ่งเป็นความร่วมมือของเหล่าประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Organization - ECO)[๑] เพื่อให้เอเชียกลางสามารถมีทางออกสู่ทะเล

 

นโยบายต่างประเทศ
          สาธารณรัฐคีร์กีซมุ่งพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาภายในประเทศและภายในภูมิภาค โดยดำเนินการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียกลาง ประเทศในเครือรัฐเอกราช ประเทศมหาอำนาจ ประเทศยุโรปและเอเชียอื่นๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือและแก้ปัญหาในกรอบพหุภาคี อาทิ กรอบสหประชาชาติ  เครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States - CIS) องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation - OIC) องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe - OSCE)[๒] การประชุมว่าด้วยมาตรการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (CICA)[๓] ความร่วมมือเอเชีย (ACD) องค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization - SCO)[๔]  และองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization - CSTO)[๕]  
          สาธารณรัฐคีร์กีซมีความพยายามในการแสดงบทบาทของตนในความร่วมมือระดับภูมิภาค อาทิ การดำรงตำแหน่งประธานเครือรัฐเอกราช (CIS) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๖ สืบต่อจากคาซัคสถาน โดยสาธารณรัฐคีร์กีซมีนโยบายที่จะจัดโครงการมากกว่า ๔๐ โครงการในมิติต่างๆ อาทิ การเมือง กีฬา วัฒนธรรม และมนุษย์ พร้อมเน้นย้ำความสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างการทำงานของ CIS ในวาระครบรอบการก่อตั้งครบรอบ ๒๕ ปี ขณะเดียวกัน สาธารณรัฐคีร์กีซให้ความสำคัญอย่างยิ่งในพัฒนาความสัมพันธ์ในภูมิภาคผ่านความร่วมมือภายใต้ EEU เช่นกัน
          สาธารณรัฐคีร์กีซเป็นประเทศเดียวในเอเชียกลางที่เคยมีทั้งฐานทัพของของรัสเซียและสหรัฐฯ ตั้งอยู่ จนเมื่อปี ๒๕๕๗ สหรัฐฯ ได้ส่งมอบฐานทัพอากาศมานาส (Manas Airbase) ซึ่งสหรัฐฯ ได้เช่าจากรัฐบาลคีร์กีซมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ คืนให้แก่รัฐบาลคีร์กีซ  ขณะนี้ จึงไม่มีฐานทัพของสหรัฐฯ เหลืออยู่ในเอเชียกลาง[๖] ขณะที่รัสเซียยังคงมีฐานทัพในสาธารณรัฐคีร์กีซ
          การถอนการปฏิบัติการทางทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี ๒๕๕๗ ทำให้มีความห่วงกังวลว่ากลุ่มรัฐอิสลาม (IS) จะฉวยโอกาสจากการถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ ขยายอิทธิพลเข้ามาในสาธารณรัฐคีร์กีซ ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มจำนวนของชาวคีร์กีซที่เข้าร่วมกับกลุ่ม IS ในซีเรียและอิรัก ปัจจุบัน รัฐบาลคีร์กีซมีมาตรการเพื่อควบคุมการขยายตัวของลัทธิสุดโต่ง อาทิ การกำหนดให้ครูในโรงเรียนสอนศาสนาเข้ารับการประเมินรับรองจากรัฐบาลเพื่อป้องกันการแฝงตัวของกลุ่มลัทธิสุดโต่งในการใช้สถานศึกษาเป็นแหล่งเผยแพร่ลัทธิดังกล่าว ในขณะเดียวกัน รัฐบาลคีร์กีซหันมากระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรดั้งเดิมมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับ OSCE, CSTO และ SCO  
          สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐคีร์กีซกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นนับว่ายังมีความตึงเครียดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งเรื่องน้ำและพลังงานกับประเทศอุซเบกิสถาน นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งด้านเชื้อชาติระหว่างชาวคีร์กีซเชื้อสายอุซเบกทางตอนใต้กับเชื้อสายคีร์กีซในส่วนที่เหลือของประเทศ ซึ่งอาจเป็นชนวนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองประเทศได้อีกในอนาคต ดังที่เคยเกิดสถานการณ์ความไม่สงบจากความขัดแย้งระหว่างสองเชื้อชาติซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓   

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคีร์กีซ

 

ความสัมพันธ์ด้านการทูตและการเมือง
          
ไทยรับรองการเกิดเป็นรัฐใหม่ของคีร์กีซสถาน (ชื่อเดิม) เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๓๔ และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐคีร์กีซสถาน (Republic of Kyrgyzstan) เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๕ ต่อมาคีร์กีซสถานได้เปลี่ยนชื่อ เป็นสาธารณรัฐคีร์กีซ (Kyrgyz Republic) เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ นับตั้งแต่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ยังมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งในด้านความร่วมมือทวิภาคีในระดับต่างๆ และทั้งสองฝ่ายยังไม่เคยแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างเป็นทางการในระดับผู้นำหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างกันในกรอบทวิภาคี อนึ่ง ในด้านความสัมพันธ์ในกรอบพหุภาคี ไทยกับสาธารณรัฐคีร์กีซต่างเป็นสมาชิกและองค์กรย่อยภายใต้กรอบสหประชาชาติ กรอบการประชุมว่าด้วยมาตรการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (CICA) ความร่วมมือเอเชีย (ACD) และองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งเป็นช่องทางให้ไทยและคีร์กีซได้เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพนอกเหนือจากกรอบทวิภาคี ทั้งนี้ คีร์กีซได้ตกลงแลกเสียงสนับสนุนไทยในการสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC วาระปี ๒๐๑๗ – ๒๐๑๘ แล้ว
          ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐคีร์กีซ และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงบิชเคก เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ ส่วนสาธารณรัฐคีร์กีซได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคีร์กีซ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย

 

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง 
          ที่ผ่านมา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคีร์กีซมีเพิ่มขึ้น โดยมีการพบหารือของผู้แทนระดับสูง ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐคีร์กีซ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘ ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๐ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ และการจัดทำความตกลงร่วมมือในด้านต่างๆ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้นตามลำดับ
          ไทยและสาธารณรัฐคีร์กีซได้มีการสนับสนุนระหว่างกันในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอด ดังนี้ 
          - ไทยสนับสนุนสาธารณรัฐคีร์กีซสำหรับการดำรงตำแหน่งสมาชิก ECOSOC ๒๐๑๓-๒๐๑๕ แลกกับการสมัครดำรงตำแหน่งสมาชิก HRC ๒๐๑๕-๒๐๑๗ ของไทย
          - สาธารณรัฐคีร์กีซสนับสนุนไทยสำหรับการสมัครดำรงตำแหน่ง UNSC ๒๐๑๗-๒๐๑๘ สำหรับการสมัครดำรงตำแหน่งสมาชิก UNSC ๒๐๑๒-๒๐๑๓ ของสาธารณรัฐคีร์กีซ (แม้คีร์กีซจะไม่ได้รับเลือก)
          - สาธารณรัฐคีร์กีซสนับสนุนไทยสำหรับการดำรงตำแหน่ง INCB ของนายวิโรจน์ วาระ ๒๐๑๕-๒๐๒๐ แลกกับการสมัครดำรงตำแหน่งสมาชิก HRC ๒๐๑๖-๒๐๑๘ ของสาธารณรัฐคีร์กีซ
          - สาธารณรัฐคีร์กีซสนับสนุนไทยแบบให้เปล่าสำหรับการสมัคร CND วาระปี ๒๐๑๖-๒๐๑๙ ของไทย

          การเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยในกรุงบิชเคก

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๙ อนุมัติการเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงบิชเคก โดยมีเขตกงสุลครอบคลุมสาธารณรัฐคีร์กีซ และแต่งตั้งนายฟาซิล อะฮุนดอฟ (Mr. Fazil Ahundov) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงบิชเคก 

           สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงบิชเคก ตั้งอยู่ที่ 102 Toktogula street, office 1, Bishkek, The Kyrgyz Republic 720040

           โทรศัพท์ : +996 (312) 879 987, mobile: +996 708 833 533

            โทรสาร : +996 312 300730    email: [email protected]

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ 
การค้า
          ในปี ๒๕๕๘ การค้าระหว่างไทย-สาธารณรัฐคีร์กีซ มีมูลค่ารวม ๑.๔๘๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก ๑.๔๗๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า ๐.๐๑๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า ๑.๔๕๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
          - สินค้าส่งออกของไทยไปสาธารณรัฐคีร์กีซ ได้แก่ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ เครื่องมือทางการแพทย์ ผักกระป๋อง เหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอาง
          - สินค้านำเข้าจากสาธารณรัฐคีร์กีซมาไทย ได้แก่ เครื่องมือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ไดโอด ทรานซิสเตอร์และผลิตภัณฑ์กึ่งตัวนำ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก สิ่งพิมพ์ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไม้แปรรูป


การลงทุน
          - ไม่ปรากฏการลงทุนระหว่างกัน

 

ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม  
          แม้ว่าความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคีร์กีซยังมีไม่มากนัก แต่ไทยและสาธารณรัฐคีร์กีซก็พยายามพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน ดังนี้
          - เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ฝ่ายคีร์กีซได้ขอให้ไทยนำวรรณกรรมที่แต่งโดยนักเขียนชาวคีร์กีซ คือ นายชิงกิซ เอ็ทมาทอฟ (Chingiz Aitmatov) และได้แปลเป็นภาษาไทยโดยนายธนิต ธรรมสุคติ ไปแสดงในเทศกาลหนังสือนานาชาติด้วย
          - ระหว่างวันที่ ๑๒-๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ได้ส่งคณะนักเรียนผู้แทนประเทศไทยจำนวน ๓ คน และอาจารย์ ๒ คนเข้าร่วมการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ ๑๙ ณ กรุงบิชเคก และเมืองชอลพอน อาตา สาธารณรัฐคีร์กีซ

 

ความช่วยเหลือทางวิชาการ
          กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Development and Cooperation Agency - TICA) ได้ดำเนินงานความร่วมมือและให้ทุนฝึกอบรม แก่สาธารณรัฐคีร์กีซในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับความต้องการของสาธารณรัฐคีร์กีซในด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจพอเพียง การจัดการพลังงาน การท่องเที่ยว การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ การจัดเก็บภาษี และการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น
          รูปแบบความร่วมมือประกอบด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติและการศึกษาดูงาน ระหว่างปี ๒๕๕๓-๒๕๕๗ ไทยได้ให้ทุนฝึกอบรมสาธารณรัฐคีร์กีซ จำนวน ๑๐ ทุน อาทิ หลักสูตร From Sufficiency Economy to the Wealthiness of the Nation  หลักสูตร Global Warming Mitigation and Adaption by Balancing Sustainable Energy Management (GSEM) หลักสูตร Thailand’s Experience in Attracting Foreign Direct Investment หลักสูตร  Tax Administration หลักสูตร The Pricing Mechanism of Export and Import of Goods in Foreign Trade หลักสูตร Towards Green Growth with Waste Utilisation หลักสูตร World Experience in Creating Free Industrial-economics Zone รวมทั้งภายใต้โครงการบัวแก้วสัมพันธ์ในการดูงานโครงการตามแนวพระราชดำริ การจัดตลาดท่องเที่ยวในประเทศไทย
และ Community-based Tourism       

                     

การพัฒนาข้าราชการและพลเรือน
          ไทยและสาธารณรัฐคีร์กีซมีความร่วมมือในด้านการพัฒนาข้าราชการและพลเรือนผ่านกรอบความร่วมมือระหว่าง Regional Hub of Civil Service กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โดยมีผู้แทนชาวคีร์กีซจาก State Personnel Service เข้าร่วมการประชุมที่ ก.พ. จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๕๗ และครั้งล่าสุดระหว่าง ๑๑-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ นอกจากนี้ ก.พ. และ State Personnel Service ของสาธารณรัฐคีร์กีซกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนกับ The State Personnel Service แห่งสาธารณรัฐคีร์กีซ

 

การท่องเที่ยว
          ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากกลุ่มเครือรัฐเอกราช (CIS) เป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๕๘ มีชาวคีร์กีซเดินทางมาไทยจำนวน ๒,๖๘๐ คน

 

การเยือนที่สำคัญ 
ฝ่ายไทย 
          - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐคีร์กีซ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๗-๑๐ เมษายน ๒๕๕๙

          - เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน – ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ นายเฉลิมพล ทันจิตต์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เยือนสาธารณรัฐคีร์กีซอย่างเป็นทางการ โดยได้พบหารือกับนาย Ruslan Kazakbaev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Oleg Pankratyev รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และผู้แทนระดับสูงของสาธารณรัฐคีร์กีซ

          - เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน  ๒๕๕๖ นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนสาธารณรัฐคีร์กีซอย่างเป็นทางการ โดยได้พบนาย Djoomart Otorbaev รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง นาย Kanybek Imanaliev ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ รัฐสภาคีร์กีซ และนาย Erlan Abdyldaev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางซามากูล อดัมคูโลว่า  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Daniyar Kazakov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงท่องเที่ยว


ฝ่ายคีร์กีซ
          - เมื่อวันที่ ๑๔-๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ นาย Nurland Aitmurzaev  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐคีร์กีซ เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม AMED ครั้งที่ ๓ โดยได้พบหารือกับนายกษิตย์ ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
          - เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นาย Ruslan Kazakbaev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐคีร์กีซ เยือนประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุม UNESCAP และได้พบหารือกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
          - เมื่อวันที่ ๒๖-๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ นาง Samargul Adamkulova รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐคีร์กีซ เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุม SPECA (UN Special Programme for the Economics of Central Asia) จัดโดย UNESCAP และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
          - เมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ มกราคม ๒๕๕๖ นาย Djoomart Otorbaev รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งสาธารณรัฐคีร์กีซ เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Frontier Asia: Economic Transformation and Inclusive Growth ซึ่งจัดโดย IMF และ JICA และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๖

 

ความตกลงระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคีร์กีซ

ความตกลงที่ลงนามแล้ว

ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (Agreement on Air Services between the Kingdom of Thailand and the Kyrgyz Republic) ได้มีพิธีลงนามความตกลงฯ ระหว่างนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับนาย Kubanychbek Jumaliev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่งและคมนาคม สาธารณรัฐคีร์กีซ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๔

 

ความตกลงที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

๑. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการไทยระหว่างรัฐบาลแห่งราชแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคีร์กีซ (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kyrgyz Republic on Visa Exemption for Holders of Diplomatic and Official Passports)

๒. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐคีร์กีซ  (MoU between the Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Foreign Affairs of the Kyrgyz Republic)

๓. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาวิทยาศาสตร์และการศึกษาไทยและสาธารณรัฐคีร์กีซ (Agreement on the Cooperation in the Field of Sciences and Education between Thailand and the Kyrgyz Republic)

๔. บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเศรษฐกิจแห่งสาธารณรัฐคีร์กีซ (MoU Between the Ministry of Economic Regulation of the Kyrgyz Republic and The Office of the Board of Investment of The Kingdom of Thailand)

๕. บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กับ The State Personnel Service แห่งสาธารณรัฐคีร์กีซ (MOU between The State Personnel Service and the Commission for Civil Service Affairs of Thailand)

๖. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคีร์กีซว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement Concluded between the Government of the Kyrgyz Republic and
the Government of the Kingdom of Thailand concerning the Support and Protection of Investments)

๗. สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา (Treaty on Mutual Assistance in Criminal Matters)

๘. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการศาลในคดีแพ่งและพาณิชย์และความร่วมมือด้านอนุญาโตตุลาการ (Agreement on Judicial Assistance in Civil and Commercial Matters and Cooperation in Arbitration)

๙. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยแห่งสาธารณรัฐคีร์กีซกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (Cooperation Agreement between the Ministry of Interior of the Kyrgyz Republic and the Royal Thai Police)

๑๐. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า (Agreement on Trade and Economic Cooperation) กระทรวงฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าในขณะนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-คีร์กีซ ยังมีไม่มาก จึงชะลอการจัดทำความตกลงดังกล่าว

 

* * * * * * * * * *

 

กลุ่มงานเอเชียกลาง

กองเอเชียใต้และเอเชียกลาง

กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

มีนาคม ๒๕๕๙