วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 16,155 view

สาธารณรัฐทาจิกิสถาน

Republic of Tajikistan

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง อยู่ทางตอนใต้ของภูมิภาคเอเชียกลาง ระหว่างอุซเบกิสถานและจีน โดยร้อยละ ๙๐ ของภูมิประเทศเป็นภูเขา

พื้นที่ ๑๔๓,๑๐๐ ตารางกิโลเมตร

ประชากร ๘.๒ ล้านคน (๒๕๕๘) แบ่งเป็นชาวทาจิก ร้อยละ ๘๔.๓ ชาวอุซเบก ร้อยละ ๑๒.๒  ชาวรัสเซีย ร้อยละ ๐.๕ ชาวคีร์กีซ ร้อยละ ๐.๘ ชาวเติร์กเมน ร้อยละ ๐.๒ และอื่นๆ ร้อยละ ๒

เมืองหลวง ดูชานเบ (Dushanbe)

ภาษาราชการ ภาษาทาจิก แต่มีการใช้ภาษารัสเซียแพร่หลายในภาครัฐและภาคเอกชน และประชากรประมาณ ๙ แสนคนใช้ภาษาอุซเบก

ศาสนา อิสลาม นิกายสุหนี่ (Hanafism) ร้อยละ ๙๖.๖ นิกายชีอะห์ (Ismailism) ร้อยละ ๒.๘ อื่นๆ ร้อยละ ๐.๖

ภูมิอากาศ ภูเขาสูงแบบภาคพื้นทวีป (ฤดูหนาว อากาศหนาวจัด ฤดูร้อน อากาศร้อนจัด)

เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT ๖ ชั่วโมง

วันชาติ ๙ กันยายน

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย ๕ สิงหาคม ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒)

ระบบการเมือง ประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและบริหารประเทศ

ประมุข ประธานาธิบดี    นาย Emomali Rahmon

นายกรัฐมนตรี    นาย Qohir Rasulzoda

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ    นาย Sirojiddin Muhriddin

 

การเมืองการปกครอง

 

การเมืองหลังการประกาศเอกราช

          สาธารณรัฐทาจิกิสถานได้รับเอกราชภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๔ ก่อนได้รับเอกราชการเมืองภายในประเทศขาดเสถียรภาพเนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในประเทศจากกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ และขบวนการชาตินิยมเช่นเดียวกับในรัฐอื่น ๆ ของสหภาพโซเวียต นำไปสู่การจลาจลและสงครามกลางเมือง ต่อมาในปี ๒๕๓๕ นาย Rahmon Nabiyev ประธานาธิบดีทาจิกิสถานซึ่งเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์ถูกบังคับโดยกลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงให้ยอมรับรัฐบาลผสมที่เกิดจากการรวมกลุ่มอิสลามและกลุ่มประชาธิปไตย สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของประธานาธิบดี Nabiyev ผลักดันให้กลุ่มอิสลามและกลุ่มประชาธิปไตยถอนตัวออกจากรัฐบาลผสม และก่อตั้งกลุ่ม neo-communis ขึ้น

ในปี ๒๕๓๗ ประธานาธิบดี Nabiyev ได้ลาออกจากตำแหน่ง นาย Emomali Rahmon ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาในขณะนั้น จึงได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลโดยปริยาย ในขณะเดียวกันกลุ่มต่อต้านรัฐบาลนำโดยพรรค Islamic Rebirth Party (IRP) ได้อพยพออกนอกประเทศพร้อมด้วยประชาชนหลายหมื่นคนไปตั้งมั่นอยู่ทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน และกลับเข้ามาปฏิบัติการแบบกองโจรในทาจิกิสถาน ทำให้รัฐบาลทาจิกิสถานต้องพึ่งพากองกำลังรัสเซียดูแลแนวชายแดนทาจิกิสถาน-อัฟกานิสถาน และมีการสู้รบยืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี นานาชาติได้พยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของทาจิกิสถาน โดยเฉพาะรัสเซียและอิหร่าน ซึ่งได้มีส่วนในการจัดการเจรจาระหว่างรัฐบาลทาจิกิสถานและกลุ่มต่อต้านให้มีการตกลงหยุดยิงชั่วคราวในปี ๒๕๓๗ และได้ขอให้สหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้นจึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะผู้สังเกตการณ์แห่งสหประชาชาติ (the United Nation Mission of Observers in Tajikistan: UNMOT) เข้าดูแลกระบวนการสันติภาพ อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายเริ่มละเมิดข้อตกลงหยุดยิงและมีการสู้รบเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเริ่มรุกเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

          ในปี ๒๕๔๐ ด้วยความร่วมมือระหว่างอิหร่าน รัสเซีย และสหประชาชาติ สามารถโน้มน้าวให้ทั้งสองฝ่าย มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างประธานาธิบดี Emomali Rahmon กับนาย Sayed Abdulla Nuri ผู้นำกลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐบาล (United Tajik Opposition - UTO) เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๐ โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ทำการดูแลการส่งผู้ลี้ภัยคืนถิ่น ตลอดจนการปลดอาวุธ กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ และเริ่มกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างยุติธรรม

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกภายหลังการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ ข้อตกลงยังได้รับการปฏิบัติตามไม่มากนัก ยังมีการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงจากทั้งสองฝ่ายอยู่เรื่อยๆ แต่รัฐบาลทาจิกิสถานได้เรียกร้องให้ UNMOT ตลอดจนประเทศผู้ค้ำประกันความตกลงฯ ให้เข้ามามีบทบาทในการยุติการใช้กำลังอาวุธของกลุ่ม UTO โดย UNMOT ได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ จำนวน ๗๐ คน เข้าไปสังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพในทาจิกิสถาน และจัดให้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจนกระทั่งสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๒ ซึ่งประธานาธิบดี Rahmon ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง หลังจากนั้น ในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ ได้มีการลงประชามติให้ประธานาธิบดี Rahmon สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก ๒ สมัย (วาระ ๗ ปี) ติดต่อกันหลังจากหมดวาระในปี ๒๕๔๙

จนเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ทาจิกิสถานได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งผลเป็นไปตาม ความคาดหมายคือประธานาธิบดี Rahmon ได้รับชัยชนะและปกครองประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๔ อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่สำคัญ ๓ พรรค ได้แก่ (๑) Islamic Revival Party (๒) Democratic Party และ    (๓) Social Democratic Party ไม่ส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันและประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งโดยให้เหตุผลว่า   การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส และพรรครัฐบาลจำกัดสิทธิพรรคการเมืองอื่นในการเข้าถึงสื่อทุกประเภท ในขณะที่องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ซึ่งส่งคณะผู้สังเกตการณ์ จำนวน ๑๗๐ คน เพื่อติดตามการเลือกตั้งในทาจิกิสถานระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีสัญญาณของการแข่งขันอย่างแท้จริง และขาดตัวเลือกทางการเมือง (lack of political alternatives)       

 

สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน

          ทาจิกิสถานจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ซึ่งนาย Rahmon ประธานาธิบดีทาจิกิสถานคนปัจจุบันได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างขาดลอย ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ ๘๓.๑ จากผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้นร้อยละ ๘๖.๖ ผลการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้นาย Rahmon สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีทาจิกิสถานไปอีก ๗ ปี (๒๕๕๖-๒๕๖๓) เป็นสมัยที่ ๔ รวมระยะเวลาการปกครองประเทศ ๒๒ ปี อนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีทาจิกิสถานครั้งต่อไป จะมีขึ้นในปี ๒๕๖๓

          เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๘ ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่าพรรคการเมืองได้รับคะแนนเสียงเรียงตามลำดับ ได้แก่ (๑) พรรค People’s Democratic Party จำนวน ๕๑ ที่นั่ง (๒) พรรค Agrarian Party ๕ ที่นั่ง (๓) พรรค Party of Economic Reforms ๓ ที่นั่ง (๔) พรรค Communist Party ๒ ที่นั่ง (๕) พรรค Socialist Party ๑ ที่นั่ง และ (๖) พรรค Democratic Party ๑ ที่นั่ง  ผลการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงถึงฐานอำนาจที่มั่นคงและฐานเสียงที่จะสนับสนุนการปกครองของประธานาธิบดี Rahmon เนื่องจากสมาชิก

สภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกส่วนใหญ่มาจากพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนประธานาธิบดี (มีเฉพาะพรรค Communist Party ที่ได้รับ ๒ ที่นั่งที่ไม่ใช่พรรคที่สนับสนุนรัฐบาล) ปัจจุบัน แม้ประธานาธิบดีจะมีอำนาจควบคุมการบริหารประเทศเกือบทุกมิติแต่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีประเด็นสำคัญทางนโยบายบางประเด็นที่ต้องได้รับความเห็นชอบโดยรัฐสภา อาทิ นโยบายเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การประกาศกฎอัยการศึกการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ

          เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘ สาธารณรัฐทาจิกิสถานจัดการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก (Majlisi Milli) จำนวน ๓๓ คน โดย ๒๕ คน มาจากการเลือกตั้งโดยสภาท้องถิ่น โดยการลงคะแนนเสียงลับ ส่วนอีก ๘ คน มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีฯ มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี อย่างไรก็ดี การที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนประธานาธิบดี มีนัยว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศ

          แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในทาจิกิสถานจะนับถือศาสนาอิสลาม และเสรีภาพในการนับถือศาสนาจะระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริงนั้น พิธีกรรมหรือการแสดงออกทางศาสนาถูกควบคุมโดยเข้มงวดจากรัฐบาลเนื่องจากประธานาธิบดีทาจิกิสถานมีนโยบายควบคุมศาสนา การป้องปรามการขยายตัวของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง รวมทั้งความเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งมักเกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนา ด้วยการออกกฎหมายต่าง ๆ อาทิ การจดทะเบียนกลุ่มศาสนา การห้ามบุรุษไว้เครา การห้ามสตรีใส่ผ้าคลุมผม (Hijab) การกำหนดอายุของผู้เดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะห์ต้องมากกว่า ๓๕ ปี การห้ามผู้เยาว์อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา การห้ามผู้ปกครอง มิให้ตั้งลูกด้วยภาษาอาหรับ ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีกลุ่มมุสลิมในทาจิกิสถานแสดงความไม่พอใจในนโยบายดังกล่าวและมีปฏิกริยาต่อต้านอยู่เนืองๆ อาทิ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ นาย Gulmurod Khalimov ผู้บัญชาการกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติทาจิกิสถาน ได้เผยแพร่คลิปวีดีทัศน์การเข้าร่วมเป็นนักรบกองกำลังรัฐอิสลาม (IS) ในซีเรีย   

          ปัจจุบัน รัฐบาลทาจิกิสถานยังคงมีความหวาดระแวงต่อความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มลัทธิสุดโต่ง กลุ่มก่อการร้าย Hizb ut-Tahrir และกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง Group 24  ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงและอาจล้มล้างการปกครองของประธานาธิบดี Rahmon โดยล่าสุด รัฐสภาทาจิกิสถานได้ประกาศวันจัดการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทาจิกิสถานในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ซึ่งวาระสำคัญ ได้แก่ (๑) เสนอให้ประธานาธิบดี Rahmon ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีวิต (president for life) หลังหมดวาระในปี ๒๕๖๓ (๒) ลดเกณฑ์กำหนดอายุของผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีทาจิกิสถานจาก ๓๕ เป็น ๓๐ ปี             (นาย Rustam Emomali ซึ่งปัจจุบันอายุ ๒๗ ปี บุตรชายคนโตของนาย Rahmon ถูกกำหนดให้เป็นผู้สืบทอดทางการเมือง) และ  (๓) ห้ามการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่ก่อตั้งจากความเชื่อทางศาสนา

(เพื่อกีดกันพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะ Islamic Renaissance Party of Tajikistan)

 

เศรษฐกิจ

 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ๘.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๘)

รายได้ประชาชาติต่อหัว ๒,๘๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๘)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๒.๐ (ปี ๒๕๕๘)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ ๘.๐ (ปี ๒๕๕๘)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ ๒.๕ (ปี ๒๕๕๘)

อุตสาหกรรม (GDP) ถ่านหิน ลิกไนต์ ซีเมนต์ ฝ้าย อลูมิเนียม สิ่งทอ ซีเมนต์ เครื่องหนัง

ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานน้ำ อลูมิเนียม แร่พลวง (Antimony Ore) ถ่านหิน ทองคำ เงิน ตะกั่ว

สินค้านำเข้าที่สำคัญ แร่ธาตุ ผลผลิตทางการเกษตร เครื่องจักรและอุปกรณ์ ไฟฟ้า (ในฤดูหนาว) เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ

สินค้าออกที่สำคัญ ไฟฟ้า (ส่งให้แก่อัฟกานิสถาน) สิ่งทอ ฝ้าย โลหะ ทอง อลูมิเนียม

ตลาดนำเข้าที่สำคัญ รัสเซีย (ร้อยละ ๓๐.๕) จีน (ร้อยละ ๒๒.๒) คาซัคสถาน (ร้อยละ ๑๖.๒) ตุรกี (ร้อยละ ๓.๙) อิหร่าน (ร้อยละ ๓.๖) สวิตเซอร์แลนด์และเติร์กเมนิสถาน (ร้อยละ ๓.๑) ลัตเวีย (ร้อยละ ๑๒.๖) และอื่นๆ

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ตุรกี (ร้อยละ ๒๘.๗) สวิตเซอร์แลนด์ (ร้อยละ ๒๓.๑) คาซัคสถาน (ร้อยละ ๑๖.๔) อิหร่าน (ร้อยละ ๖.๗) รัสเซีย (ร้อยละ ๖.๔) อัฟกานิสถาน (ร้อยละ ๖.๓) จีน (ร้อยละ ๓.๓) ปากีสถาน (ร้อยละ ๒.๖) และอื่น ๆ

          ทาจิกิสถานเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวที่ต่ำที่สุดในบรรดาเครือรัฐเอกราชที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต (Commonwealth of Independent States - CIS) โดยปัจจุบันประชากร ๒ ใน ๓ ยังมี ความเป็นอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน เศรษฐกิจของทาจิกิสถานอาศัยรายได้จากภาคการเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน (ถ่านหิน และการผลิตพลังงานไฟฟ้า) เป็นส่วนใหญ่ โดยในภาคการเกษตรเน้นการปลูกฝ้ายเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นภาคเกษตรที่พัฒนามาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต
          รัฐบาลทาจิกิสถานได้กำหนดนโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นระบบการตลาดแบบเสรี โดยเน้นด้านการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม การโอนถ่ายกิจการของรัฐ ทั้งธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ให้เป็น  ของเอกชน การปรับปรุงสถาบันการเงิน การธนาคาร และระบบภาษี ซึ่งการปฏิรูประบบเศรษฐกิจนี้จะต้องอาศัยเงินทุนจากต่างประเทศ ทาจิกิสถานเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเป็นทางการในปี ๒๕๕๖

          รัฐบาลทาจิกิสถานประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ รัฐบาลทาจิกิสถานรับเงื่อนไขที่เข้มงวดของ IMF เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงิน โดยดำเนินนโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจของ IMF อย่างเคร่งครัด (Poverty Reduction and Growth Facility-PRGF) เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและการช่วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า ทำให้ทาจิกิสถานยังประสบปัญหาในด้านการบริหารหนี้ต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน   
          ทาจิกิสถานมีศักยภาพด้านการผลิตอลูมิเนียม ฝ้ายและไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ในปัจจุบันยังขาดการลงทุน    จึงยังไม่สามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการวางระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ  
          ทาจิกิสถานพยายามผลักดันเรื่องการสร้างเขื่อน Rogun เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาวเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้า อนึ่ง ข้อพิพาทเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเอเชียกลางระหว่างประเทศต้นน้ำ (ทาจิกิสถานและสาธารณรัฐคีร์กีซ) และประเทศปลายน้ำ (อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน และเติร์กเมนิสถาน) เกิดจากการโครงการสร้างเขื่อนของทาจิกิสถานทำให้แม่น้ำเปลี่ยนทิศทางจนบางช่วงแห้งขอด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนพื้นเมือง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากการผันน้ำในปริมาณมากเพื่อใช้ในการเกษตรโดยเฉพาะการเพาะปลูกฝ้ายเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตรทำให้เกิดการปนเปื้อนในแม่น้ำ ด้วยเหตุนี้ ทาจิกิสถานจึงมีบทบาทที่แข็งขันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกรอบสหประชาชาติในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างความชอบธรรมและความสนับสนุนจากเวทีระหว่างประเทศในโครงการสร้างเขื่อนของตน

          ปัจจุบัน ทาจิกิสถานประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของรัสเซียซึ่งเป็นคู่ค้าหลักและตลาดแรงงานที่สำคัญ อันเนื่องมาจากการถูกคว่ำบาตรจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจากการผนวกไครเมีย กอปรกับค่าเงินรูเบิ้ลของรัสเซียที่อ่อนตัวลง เนื่องจากปัจจุบัน มีแรงงานชาวทาจิกมากกว่าล้านคนค้าแรงงานอยู่ในรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของทาจิกิสถาน

 

บทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

          ทาจิกิสถานเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้แก่ สหประชาชาติ (UN) เครือรัฐเอกราช(Commonwealth of Independent States – CIS) องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation - OIC) องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe - OSCE) องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation - SCO) องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Organization - ECO) องค์กรสนธิสัญญาความร่วมมือเพื่อความมั่นคง (Collective Security Treaty Organization - CSTO) และการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia - CICA)

          หลายปีที่ผ่านมา ทาจิกิสถานพยายามมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น โดยมีบทบาทเป็นเจ้าภาพการประชุม OIC ในปี ๒๕๕๓ การประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ ๑๑ ซึ่งที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาดูชานเบซึ่งเป็นเอกสารรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานและทิศทางของกรอบความร่วมมือ ACD ในอนาคต การประชุม High Level International Conference on Water Cooperation ในปี ๒๕๕๖ การประชุมสุดยอด SCO ครั้งที่ ๑๔ ในปี ๒๕๕๗ การประชุมสุดยอด CSTO ณ กรุงดูชานเบ เมื่อ ๑๕ ก.ย. ๒๕๕๘ ในฐานะประธาน CSTO โดยล่าสุด ไทยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมคู่ขนานระดับสูง (High level Special Event) ในหัวข้อ “Catalysing Implementation and Achievement of the Water Related Sustainable Development Goals” เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐทาจิกิสถาน

 

ความสัมพันธ์ทางการทูต
          ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับทาจิกิสถานในปี ๒๕๓๕ โดยฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา ดูแลทาจิกิสถาน และทาจิกิสถานได้มอบให้สถานเอกอัครราชทูตทาจิกิสถานประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเขตอาณาดูแลประเทศไทย

การเยือนระดับสูงและการพบหารือทวิภาคี

- เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนทาจิกิสถาน อย่างเป็นทางการ

- เมื่อวันที่ ๘-๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ Emomali Rahmon ประธานาธิบดีทาจิกิสถาน ได้เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้พบหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

- เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๙ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนทาจิกิสถานอย่างเป็นทางการในโอกาสการเข้าร่วมประชุม CICA ระดับผู้นำ ครั้งที่ ๑ ที่ประเทศคาซัคสถาน

- เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๓ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับ Emomali Rahmon ประธานาธิบดี ในโอกาสแวะพักที่ประเทศไทยหลังจากการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ

- เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทาง เข้าร่วมประชุม OIC ระดับรัฐมนตรี ที่ทาจิกิสถาน พร้อมพบหารือทวิภาคีกับนายคามรอกคอน ซาริฟี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทาจิกิสถานในโอกาสเดียวกัน

- เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้พบหารือกับนาย Emomali Rahmon ประธานาธิบดี ในระหว่างการประชุม UNGA

- เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๕ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือทวิภาคีกับ

นาย Emomali Rahmon ประธานาธิบดี ในระหว่างการประชุม ACD Summit ที่คูเวต

- ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ประธานาธิบดีทาจิกิสถานเยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อ เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Water Forum) ครั้งที่ ๒

- ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ นส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นรม. เยือนทาจิกิสถานอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือด้านน้ำ (High Level International Conference on Water Cooperation - HLICWC)  

- ระหว่างวันที่ ๖-๙ เมษายน ๒๕๕๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนทาจิกิสถาน ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติทาจิก (Tajik national University) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาประวัติศาสตร์

- พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีทาจิกิสถาน เมื่อวันที่  ๒๔ กันยายน ๒๕๕๘ ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๐ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา


ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

         ปัจจุบัน การค้าระหว่างไทยกับทาจิกิสถานยังคงมีมูลค่าไม่มากนัก ในปี ๒๕๕๘ การค้าระหว่างกันมีมูลค่าประมาณ ๙๖๕,๕๖๕ ดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า ๙๖๒,๗๒๗ ดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้ามูลค่า ๒,๘๓๘ ดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า ๙๕๙,๘๘๙ ดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยไปยังทาจิกิสถาน ได้แก่ กระดาษและผลิตภัณฑ์จากกระดาษ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และร่ม สินค้านำเข้าของไทยจากทาจิกิสถาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์การพิมพ์

         อนึ่ง สาเหตุที่ปริมาณการค้าการลงทุนและการติดต่อระหว่างสองประเทศยังมีจำกัด เนื่องจากทาจิกิสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล และยังไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างกัน ผู้ประกอบการฝ่ายไทยจึงประสบปัญหาในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังทาจิกิสถาน ปัจจุบัน การส่งสินค้าต้องทำผ่านประเทศที่สามทั้งทางทะเลและทางบก ได้แก่ อิหร่าน อาเซอร์ไบจาน เติร์กเมนิสถานและอุซเบกิสถาน นอกจากนี้ รายได้ของประชากรทาจิกิสถานยัง ไม่สูงนักทำให้กำลังซื้อต่ำ มีปัญหาเรื่องระบบการชำระเงินผ่านธนาคารที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากล และอุปสรรคด้านภาษาเนื่องจากผู้ประกอบการของทาจิกิสถานมักไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร

         ทั้งสองประเทศไม่ปรากฎการลงทุนระหว่างกัน อย่างไรก็ดี ทาจิกิสถานมีแหล่งพลังงานน้ำที่สำคัญจึงเคยเชิญชวนให้ไทยร่วมลงทุนในโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในปี ๒๕๔๘ โดยยินดีให้ไทยนำอลูมิเนียมกลับในลักษณะแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ได้แก่ กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่าการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีค่าใช้จ่ายสูงมากและไม่คุ้มทุน นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงการนำเข้าอลูมิเนียมจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นอยู่แล้ว ได้แก่ เวียดนาม ซึ่งมีศักยภาพมากกว่า สำหรับสาขาอื่น ๆ ที่น่าจะมีศักยภาพได้แก่ การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร การพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากทาจิกิสถานมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและโบราณสถานและวัตถุจำนวนมากเนื่องจากเป็นส่วนหนี่งของเส้นทางสายไหมในอดีต อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางการเดินทางและช่องทางการประสานงาน จึงทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีไม่มากนัก ล่าสุด ในปี ๒๕๕๘ ทาจิกิสถานได้เสนอที่จะซื้อข้าวและน้ำตาลจากไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องดังกล่าว

 

ความตกลงทวิภาคี
ความตกลงที่ลงนามแล้ว

๑.      ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย-ทาจิกิสถาน

๒.      ความตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลของสาธารณรัฐทาจิกิสถาน

๓.      บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลของสาธารณรัฐทาจิกิสถานว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและสารตั้งต้น

๔.      ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลของสาธารณรัฐทาจิกิสถานว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ

๕.      ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลของสาธารณรัฐทาจิกิสถานว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน

๖.      บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐทาจิกิสถาน

๗.      ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลของสาธารณรัฐทาจิกิสถานว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

๘.      อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย-ทาจิกิสถาน (ลงนามระหว่างการเยือนไทยของประธานาธิบดีทาจิกิสถานระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖)

๙.      ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐทาจิกิสถานว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๙ เมษายน ๒๕๕๗ เป็นต้นไป)

ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 
ความตกลงด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างไทยและทาจิกิสถาน (อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม)

 

ความช่วยเหลือจากไทย
          ทาจิกิสถานเคยขอรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากไทย ซึ่งไทยได้บริจาคเวชภัณฑ์แก่ทาจิกิสถานมูลค่า ๗๐๐,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๓๘ นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทย (บริษัทเบลออย จำกัด) ได้บริจาคเงินเพื่อบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปปางไสยาสน์ในทาจิกิสถาน เป็นจำนวน ๖๒๙,๕๑๗ บาท ในปี ๒๕๔๗ รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินเพื่อบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปปางไสยาสน์ดังกล่าวเพิ่มเติมจำนวน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๕๖ โดยล่าสุดในปี ๒๕๕๙ ไทยได้มอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกรณีทาจิกิสถานประสบแผ่นดินไหวรุนแรง ๗.๒ ริกเตอร์ เป็นเงินสดจำนวน ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

 

ความร่วมมือด้านวิชาการ

          ไทยโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ทาจิกิสถานในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับความต้องการของทาจิกิสถาน เช่น สาธารณสุข การเกษตร  การแปรรูปอาหาร การประมงน้ำจืด การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการท่องเที่ยว รูปแบบความช่วยเหลือประกอบด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติและการศึกษาดูงานในหลักสูตรต่าง ๆ ระหว่างปี ๒๕๕๓-๒๕๕๘ ไทยได้ให้ทุนฝึกอบรมทาจิกิสถาน จำนวน ๘ ทุน ได้แก่  International Narcotics Law Enforcement, Enhancing Competitiveness for Greater Extent of ASEAN and Worldwide Economic Integration, Grassroots Economic Development followed Sufficiency Economy Philosophy, Climate Change Adaptation, The Pricing Mechanism of Export and Import of Goods in Foreign Trade, Modern Technology for Sustainable Agricultural Systems และ Global Warming Mitigation and Adaption by Balancing Sustainable Energy Management (GSEM)   

 

ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
          ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวชาวทาจิกิสถานเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีไม่มากนัก โดยในปี ๒๕๕๘ มีนักท่องเที่ยวชาวทาจิกิสถานเดินทางมาไทยเพียง ๕๓๒ คน เนื่องจากความไม่สะดวกในการเดินทางระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างกัน และการตรวจลงตราซึ่งต้องไปขอรับการตรวจลงตราในต่างประเทศ อาทิ รัสเซีย หรือ คาซัคสถาน ส่งผลให้ศักยภาพของตลาดการท่องเที่ยวของทาจิกิสถานยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก

 

**********

 

 

กลุ่มงานเอเชียกลาง

กองเอเชียใต้และเอเชียกลาง

กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

                                                                                                    มีนาคม ๒๕๕๙